"วราวุธ" ตอบปมเด็กเชื่อมจิต ป้องผู้บริหารกระทรวง ไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่สามารถยืนยันใครปกติหรือไม่ปกติได้
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าข้างครอบครัวของเด็กชายเชื่อมจิต ภายหลังจากมายื่นข้อร้องเรียนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พม. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเข้าพบ นางอภิญญาชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (อธิบดี ดย.) เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) ว่า ขออนุญาตทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนผ่านสื่อมวลชนตามที่เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) จากการที่ครอบครัวของเด็กชายเชื่อมจิตได้มายื่นข้อร้องเรียนที่กระทรวง พม. นั้น และอธิบดี ดย. ได้ให้สัมภาษณ์ ตนขอยืนยันว่า ตนเอง หรือปลัด พม. หรืออธิบดี ดย. นั้น เราไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่ใช่นักสหวิชาชีพ ดังนั้นการที่เราจะไปตัดสินคนใดคนหนึ่งหรือแม้แต่เด็กคนหนึ่งว่ามีความปกติหรือไม่ปกตินั้น ตนคิดว่าด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการ เราคงไม่สามารถที่จะไปกล่าวหาหรือบอกว่าคนนั้นปกติ คนนี้ไม่ปกติได้
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า แต่จากการที่อธิบดี ดย. ได้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่าดูจากสายตาแล้ว ย้ำว่าดูจากสายตาของอธิบดี ดย. แล้ว ภายนอกตัวเด็กนั้นยังปกติดีหมายถึงว่ายังไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ ทางการปฎิบัติ หรือทางพฤติกรรม แต่การที่เด็กได้รับการสั่งสอนมาอย่างไร ถูกปลูกฝังพฤติกรรมมาอย่างไรนั้น ถูกหรือผิดเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาและทีมสหวิชาชีพ ที่จะต้องมาวินิจฉัย แต่ในฐานะที่เป็นผู้ที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นอธิบดี ดย. หรือใครก็แล้วแต่ ผมคิดว่าไม่มีใครที่จะระบุหรือกล่าวหาว่าคนใดคนหนึ่งผิดปกติหรือไม่ เพราะว่าในทางกลับกัน หากเมื่อวานนี้ อธิบดี ดย. บอกไปว่าเด็กมีอาการผิดปกติหนึ่งสองสามสี่ ก็ล่อแหลมอีก เพราะผู้ปกครองอาจจะใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทมาฟ้องร้องเอากับข้าราชการได้ ซึ่งต้องเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่ว่าผมมั่นใจว่าด้วย เกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการในการทำงานมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติในการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กคนหนึ่งนั้น เราทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ และจะไม่ยอมให้ผู้ใดผู้หนึ่งมาเอาเปรียบ หรือว่าใช้ประโยชน์จากเด็กเด็ดขาด
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าของกระทรวง พม. เข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องนี้นั้น ตนคิดว่าการทำงาน การแก้ปัญหาอะไรก็ตาม หัวใจสำคัญเราไม่ได้เน้นที่ความเร็ว เราเน้นที่ความถูกต้อง เราเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขปัญหา เพราะการแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว หรือการตัดสินใจอะไรด้วยความรวดเร็วนั้น ถ้าหากตามมาด้วยปัญหาที่ใหญ่กว่า หรือว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แปลว่าความรวดเร็วที่เราใช้ไปนั้นเป็นการเสียเวลาโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการทำงานของภาครัฐ เรามีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ที่บังคับเจ้าหน้าที่ พม. ในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเยาวชน หรือเด็ก หรือแม้แต่ครอบครัวนั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกัน ซึ่งต้องบอกว่า คำว่าเคร่งครัดนี้แปลว่าไม่ได้น้อยไป และไม่ได้มากไป กฎหมายให้อำนาจเราทำหน้าที่เท่าไรเราจะทำเท่านั้น เพราะหากทำน้อยไป จะหาว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าทำมากไปจะแปลว่าเราใช้อำนาจโดยไม่ควร ดังนั้นกฎหมายให้อำนาจหน้าที่เท่าไหร่เราทำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับผู้ปฏิบัติหน้าที่ ให้ทำความเข้าใจกับระเบียบกฎหมายทุกมาตราอย่างละเอียดถี่ถ้วน