สส.ก้าวไกล เปิดพิรุธ กทม.จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงกว่าราคาตลาด
นายศุภณัฏฐ์ มีนชัยนันท์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม.ช่วงปี 2562-2567 โดยยุคของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงกว่าราคาตลาด สูงเกือบ 10 เท่า เช่น ลู่วิ่งไฟฟ้า ตัวละ 759,000 บาท และ จักรยาน ตัวละ 484,000 บาท
ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 19 ม.ค. 67 ให้ กทม. ชี้แจงแล้ว 1 โครงการ (โครงการปี 65 สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้น ซึ่งพบว่ารายการที่ กทม.ซื้อแพงกว่าราคาตลาด (ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สเปกเดียวกัน) โดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า เลยขุดเพิ่มอีกหลายโครงการ
กระทั่งล่าสุดวันที่ 3 พ.ค. 67 ได้ให้ทาง กมธ.ติดตามงบประมาณ ส่งหนังสือตรงไปยังผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้ชี้แจงโครงการซื้อครุภัณฑ์ 10 โครงการ ช่วงปี 65-67 โดยเป็นโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายรวม 9 โครงการ รวมมูลค่า 74 ล้านบาท เพราะต้องสงสัยว่าอาจมีการทุจริต เนื่องจากราคากลางที่ กทม.ใช้มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่ากลัว (แพงกว่ายุคแรก 3 เท่า จาก 254,000 บาท เป็น 759,000 บาท) ทำให้ราคาของที่ กทม.จัดซื้อสูงกว่าราคาตลาด 5-10 เท่า โดยปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงกลับมายัง กมธ.
สำหรับโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้านบาท เป็นของสมัยผู้ว่าฯ "อัศวิน" อย่างน้อยๆ 25 ล้านบาท ส่วนผู้ว่าฯ "ชัชชาติ" อีก 87 ล้านบาท
โดยสมัยผู้ว่าฯ อัศวิน (2559-2565) มีข้อมูลเฉพาะตั้งแต่ปี 2562-2565 จัดซื้อราคาลู่วิ่งด้วยราคาตัวละ 254,000 บาท (ปี 62) แล้วมีการปรับราคากลางขึ้นมาเป็น 500,000 บาท (ปี 63) มีการปรับลงมาตัวละ 334,000 บาท (ต้นปี 65)
แต่เมื่อมาถึงยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ (2565-2567) มีการปรับราคาขึ้นเป็นตัวละ 518,000 บาท (ปี 65 ศูนย์มิตรไมตรี, ศูนย์เยาวชนจตุจักร และศูนย์เยาวชนเตชะวณิช) และตั้งแต่ปี 66 ราคาได้ก้าวกระโดดไปที่ตัวละ 759,000 บาท โดยมีหลายโครงการที่ใช้ลู่วิ่งราคา 759,000 บาท ทั้งที่
- ศูนย์มิตรไมตรี
- ศูนย์วัดดอกไม้
- ศูนย์วารีภิรมย์
- ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
ที่สำคัญมีการล็อกผลงาน ทำให้ช่วงหลังๆ คนเสนอราคาแข่งกัน จะเป็นหน้าเดิมๆ 3 บริษัท
นายศุภณัฏฐ์ ระบุอีกว่า นอกจากรายชื่อศูนย์ที่แจ้งไปก่อนหน้านี้ ยังมีศูนย์อื่นๆ ที่คาดว่าเครื่องออกกำลังกายหลายรายการมีการจัดซื้อด้วยราคาสูงเกินราคาตลาด 5-10 เท่า ตั้งแต่ปี 62-67 โดยจะมีที่
- ศูนย์เยาวชนดอนเมือง
- ศูนย์เยาวชนหนองจอก
- ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่
- ศูนย์เยาวชนลุมพินี
- ศูนย์เยาวชนคลองสามวา
- ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา
- ศูนย์เยาวชนเกียกกาย
- ศูนย์เยาวชนชัยพฤกษมาลา
- ศูนย์เยาวชนอัมพวา
ดังนั้น จึงตั้งข้อสงสัยว่า คณะกรรมการจัดทำราคากลาง ผู้บริหาร กทม. สำนักงบ กทม. และสภา กทม.ไม่เอะใจสักคน ทั้งที่ของแบบนี้น่าจะรู้ว่าแพงเกินเหตุ ไม่ต้องใช้สมองเลย แต่ปล่อยมาหลายโครงการติดๆ กัน เรื่องนี้ ป.ป.ช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย