จ่อร้อง "ชัชชาติ" ท่อนไม้ตกใส่หัวหวิดดับ ทำตกงานขาดรายได้ สนง.เขต อ้างเหตุสุดวิสัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จตุพร ขาวขำ อายุ 36 ปี ผู้เสียหาย นำเอกสารหลักฐานเดินทางเข้าร้องเรียนกับนายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อขอให้ช่วยเหลือติดตามคดี หลังจากถูกกิ่งต้นไม้ท่อนใหญ่ที่ปลูกอยู่ริมถนนบริเวณ ซ.ลาซาล 57 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กทม. หักร่วงตกใส่ศรีษะจนต้องเย็บแผล 40 เข็ม และต้องพักรักษาตัวอีกกว่า 1 สัปดาห์

โดยหลังจากนั้น ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 4 หมื่นบาท อีกทั้งมีอาการปวดศรีษะบ่อยครั้ง จนต้องลาออกจากงานขาดรายได้

ทั้งนี้ ได้ติดต่อกับทางสำนักงานเขตบางนา เจ้าของพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงมาตลอด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 เวลา 17.20 น. ขณะกำลังซ้อนรถจักรยานยนต์กับสามี เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านตามปกติ โดยขับชิดริมถนน จากนั้นได้มีท่อนไม้ใหญ่ร่วงหล่นใส่ศรีษะอย่างรุนแรง ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

น.ส.จตุพร กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุ ได้ติดต่อกับทางสำนักงานเขตบางนา จากนั้นได้พบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด บอกกับตนว่า จะออกเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเป็นค่าทำขวัญให้ จำนวน 5,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าต้องจบเรื่องทั้งหมดไม่มีการแจ้งความหรือเรียกร้องสิ่งใดอีก ซึ่งตนมองว่า ไม่ควรมีใครต้องมายอมจ่ายเงินเอง ทั้งที่ควรมีกระบวนการเยียวยา รับผิดชอบถึงจะถูกต้อง

ผู้เสียหาย เล่าอีกว่า ทางสำนักงานเขตบางนา ให้เหตุผลว่าท่อนไม้ ได้รับความเสียหายจากการที่มีรถบรรทุกเฉี่ยวชน แต่ตอนนั้นยังไม่หัก ซึ่งมาหักเอาตอนที่ผู้เสียหายสัญจรผ่านมาพอดี
จึงเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่ใช่ความผิดของทางหน่วยงาน อีกทั้งทางหน่วยงานยังได้มีการชี้แจงว่าไม่สามารถติดตามจับผู้ขับรถบรรทุกรายดังกล่าวได้ เนื่องจากภาพจากกล้องวงจรปิดปรากฏภาพรถคันดังกล่าวไม่มีการติดแผ่นป้ายทะเบียน

น.ส.จตุพร กล่าวอีกว่า หากวันเกิดเหตุผู้ประสบเหตุไม่ใช่ตนแต่เป็นเด็กหรือเป็นผู้สูงอายุอาจจะส่งผลที่เลวร้ายมากกว่านี้หรือไม่ จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบดูแลและรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ด้านนายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางกทม.ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ หากเรื่องเกิดจากมีรถมาเฉี่ยวชนต้นไม้จริงก็ต้องนำภาพวงจรปิดดังกล่าวมาเปิดเผยให้ผู้เสียหายดู ไม่ใช่อ้างเหตุผลปัดความรับผิดชอบ กรณีแบบนี้เคยเกิดมาแล้วและศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำสั่งให้ กรุงเทพมหานคร ต้องเยียวยาผู้เสียหาย โดยในวันที่ 7 มิ.ย.จะพาผู้เสียหายไปร้องเรียนกับนายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการต่อไป