ผู้ว่าฯกทม.ยอมรับเสียใจเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดจตุจักร ย้ำหลังจากนี้ปรับใช้เป็นบทเรียนเข้มงวด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงถึงเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ โซนจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ซึ่งอยู่ในพื้นที่การรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและควรนำมาปรับปรุงหลังจากนี้ ซึ่งตลาดเปิดขายสัตว์เลี้ยงมากกว่า 20 ปีและเพิ่งมีการต่อสัญญา ส่วนรายงานสรุปพบพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 118 ร้าน และมีอีก 15 ร้าน ที่ได้รับผลกระทบบางส่วน

หลังเกิดเหตุมีสัตว์ตายจำนวนกว่า 5,000 ตัว
เช่น ปลา 3,500 ตัว , สุนัข 37 ตัว ,ลิง 2 ตัว ,นก 1,382 ตัว ,กระรอก 30 ตัว , เต่า 100 ตัว ,แมว 25 ตัว ,แรคคูน 10 ตัว ,ไก่ 217 ตัว และมีสัตว์อื่นอีกที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนได้

หลังเกิดเหตุถือเป็นบทเรียนที่สำคัญในการกลับมาเข้มงวดเรื่องการป้องกันอัคคีภัย เพราะหากมองผู้เสียหายที่แท้จริงคือสัตว์ที่ตายไปกว่า 5,000 ตัว

สำหรับ ตลาดที่เกิดเหตุจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในขณะนี้ต้องระงับการเปิดตลาดใหม่ หากจะเปิดทางการรถไฟ ต้องมาขออนุญาตกรุงเทพมหานครก่อน ในส่วนของผู้ค้าที่จะทำกิจการค้าสัตว์เลี้ยงต้องขออนุญาตประกอบกิจการเช่นกัน

ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ กรุงเทพมหานคร อาจพิจารณาเงื่อนไข สำหรับการอนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยง เพิ่มในด้านความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

โดยกิจการค้าสัตว์เลี้ยงมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2555 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครจะทำการสำรวจแหล่งที่พบมีการค้าสัตว์เลี้ยงจุดใหญ่สองแห่งคือ ตลาดสนามหลวง 2 ทวีวัฒนา และจตุจักร 2 มีนบุรี จะได้เข้าไปกำชับให้ผู้ประกอบการดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครได้เปิดให้ขออนุญาตได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า กทม.มีเครื่องมือในการกำกับดูแลซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องออกข้อกำหนดให้ชัดเจนมิใช่การเปิดใหัใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต หากมีคนกลางเข้ามาช่วยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนจะทำให้แนวทางการป้องกันปัญหาในอนาคตทำได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามในอนาคตหากตลาดค้าสัตว์เลี้ยงจตุจักรไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสวัสดิภาพหรือการทารุณกรรมสัตว์ให้ดีขึ้นได้จะไม่อนุญาตให้เปิดตลาดอีก

ด้าน นสพ. บุญญกฤต ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การทำกิจการค้าสัตว์ต้องมีการขออนุญาต แต่พบว่า สัตว์เลี้ยงที่มีการจำหน่ายบางชนิดไม่เข้าข่ายพรบ.การจัดการสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น ปลา เต่า กระรอกบางชนิด เรื่องนี้อาจต้องหารือกับหน่วยงานอื่นที่จะเข้ามาร่วมดูแล เช่นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

สำหรับในตลาดที่เกิดเหตุจากข้อมูลเบื้องต้นมีผู้ค้าบางรายเท่านั้นที่มีการขออนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มี ใบอนุญาต

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ได้ทำการสำรวจกิจการค้าสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพมหานคร โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 มกราคม 2567 มีร้านค้าสัตว์เลี้ยง ทั้งหมด 233 แห่ง ที่ได้สำรวจ มีใบขออนุญาตประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยงเพียง 30 ร้านเท่านั่น จึงเชื่อว่ายังมีอีกหลายร้านที่ยังไม่มีการสำรวจ

ส่วนกรณีเหตุอัคคีภัยที่เกิดขึ้น กทม. มีข้อกำหนดเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาให้ได้รายละไม่เกิน 11,400 บาท โดยกลุ่มผู้ค้าต้องมีเอกสารการรับรองจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เข้ามาแสดงเพื่อขอรับความช่วยเหลือ

ขณะที่ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวว่า ทางภาคีเครือข่ายองค์กรด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เพลิงไหม้โดยเร่งด่วน และมีคณะกรรมการกลางที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยผลตรวจสอบต่อสาธารณะ จัดให้มีการพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่ขายสัตว์เลี้ยงให้มีมาตรฐานรวม ทั้งยังมีมาตรการแผนระงับเหตุป้องกันอัคคีภัยและด้านความปลอดภัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้มีคณะกรรมการในการติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานในพื้นที่ขายสัตว์เลี้ยงและให้มีการบังคับใช้กฎหมายเช่นเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่จำหน่ายสัตว์เลี้ยงพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 พร้อมจัดภาคีอาสา จากภาคประชาชนในการเฝ้าระวังติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้นายโรเจอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุในครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์สุดวิสัย แต่เป็นเหตุที่สามารถป้องกันได้ เรื่องการเกิดอัคคีภัยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีข้อกฎหมายในการกำชับ ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยหวังว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเข้มงวดกวดขันมากกว่านี้

น.ส.ฏายิน เพชรรัตน์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ SOS Animal Thailand กล่าวว่า ทางองค์กรได้พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีในพื้นที่ตลาดทุกแห่งที่มีโซนค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งขอให้มีการตรวจสอบและเข้าไปจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้น

คาดว่ามีกิจการลักษณะการค้าสัตว์เลี้ยงมากกว่า 1,000 แห่ง ย่านตลาดที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่มีการลงทะเบียนหรือให้ข้อมูลตั้งแต่เริ่มแรกของผู้ประกอบกิจการทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าสัตว์เลี้ยงที่ตายไปเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นบทเรียนที่นำมาสู่การจัดการอย่างจริงจัง