รมว.วัฒนธรรม เตรียมงบพัฒนา แหล่งโบราณคดี "โนนพลล้าน" หลังขุดพบเครื่องประดับทองคำ
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองด้านตะวันออก ถนนอัษฎางค์ ตัดถนนพลล้าน เขตเทศบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นรับฟังสรุปข้อมูลการเตรียมความพร้อมการประชุมคณะสัญจรในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บรรยายสรุปว่า วันที่ 10 มิ.ย ที่ผ่านมา นักโบราณคดีได้เก็บกู้โครงกระดูกและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบร่วมจากหลุมขุดตรวจมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการ สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง โดยทำความสะอาดหลักฐานทางโบราณคดีก่อนนำส่งตัวอย่างหลักฐานไปวิเคราะห์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดังนี้
1.โครงกระดูกมนุษย์ วิเคราะห์ เพศ ส่วนสูง อายุเมื่อเสียชีวิตและรอยโรคที่ปรากฏบนกระดูก เพื่ออธิบายสภาพร่างกายขณะมีชีวิตอยู่และจัดส่งตัวอย่างกระดูกและอินทรียวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูกไปกำหนดอายุสมัยด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. หลักฐานทางโบราณคดี ประเภท เครื่องประดับทองคำ เครื่องมือเหล็กและลูกปัดแก้ววิเคราะห์องค์ประกอบธาตุ ด้วยวิธี XRF จากกลุ่มวิทยาศาสตร์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อนำผลวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุที่ได้มาศึกษาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัยกันต่อไป
น.ส.สุดาวรรณ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานหลังการขุดตรวจทางโบราณคดีบริเวณดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง ทน.นครราชสีมากับ สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ภายใต้โครงการปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จะนำผลวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุที่ได้มาศึกษาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัย โดยกระบวนการวิเคราะห์ หลักฐานต่างๆ ครบถ้วนแล้ว
จากนั้นได้นำส่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุบางส่วนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ นครราชสีมา เก็บรักษาอนุรักษ์และจัดแสดงส่วนโครงกระดูกมนุษย์นำส่งเก็บรักษาและอนุรักษ์ที่ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จ.อุดรธานี
“การดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้การขุดตรวจทางโบราณคดี จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะกิจสำหรับคนในชุมชนเป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงไม่เพียงเป็นการต่อยอดทางวิชาการแต่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรัก ตระหนักและหวงแหน หลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งหมดในฐานะมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามแนวคิดของ สน.ศิลปากร 10 นครราชสีมา ที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง คืองานโบราณคดีต้องต่อยอดวิชาการผสานชุมชน" น.ส.สุดาวรรณ กล่าว
ทั้งนี้แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน เมื่อพิจารณาพบเป็นหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองเก่าโคราช ที่ไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นระบบมาก่อน หลังเก็บกู้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์ทั้ง 3 โครง จะชะลอการขุดค้นชั่วคราว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นอุปสรรคและปัญหาการขุดค้น ประกอบกับให้มีช่วงเวลานักโบราณคดีทำการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานอย่างเป็นระบบ จากนั้นเดือนตุลาคมนี้ กรมศิลปากรจะจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนโบราณคดีให้ สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ดำเนินการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเพิ่มเติม เพื่อให้ได้หลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่เมืองเก่าโคราช รวมถึงนำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์ แหล่งโบราณคดีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมรูปแบบพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนต่อไป