"ฝ่ายค้าน" เตรียมทะลวง งบปี68 "ปกรณ์วุฒิ" ซัดรัฐบาลเบ่งงบ "ดิจิทัลวอลเล็ต" จนเบียดบังงบอื่น ยันไม่กลัว "องครักษ์" แม้ฝ่ายตรงข้ามจัดคนพิทักษ์ "นายกฯ-รมต."
วันที่ 17 มิ.ย. 2567 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธาน คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. ประชามติของ คณะรัฐมนตรี ว่า เป็นการจับร่างของเพื่อไทยและก้าวไกลมารวมกัน ซึ่งในบางประเด็น เห็นตามร่าง ของพรรคก้าวไกลด้วยซ้ำแต่คิดว่ามีบางประเด็นที่ยิบย่อย ที่ต่างกันบ้างเล็กน้อย ที่จะสามารถเข้าไปพูดคุยในชั้นกรรมการวิสามัญได้ ซึ่งจะรับหลักการทุกร่าง เพราะทุกร่างค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกัน
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึง การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ว่า วันนี้จะมีการพูดคุยกันในวิปฝ่านค้านอีกครั้ง และน่าจะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทางพรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรมและพรรคเล็กอื่นๆได้ทราบหัวข้อกันไปแล้ว ก็จะมาจัดวางวันอภิปรายให้สอดคล้องกันในพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีผู้อภิปรายหลายคนก็อาจจะใช้เวลาและจะต้องทำความเข้าใจกันอีกครั้งในวันนี้
ส่วนความแตกต่างระหว่างการอภิปรายงบประมาณปี 68 กับปี 67 นั้น นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า งบประมาณปี 68 มีความแตกต่างจากงบ67 ที่รัฐบาลใช้ข้ออ้างว่าไม่ได้มีเวลาปรับเปลี่ยนจากร่างเดิมในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มากนักแต่ครั้งนี้ เป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลนี้ ที่มีอำนาจในการจัดงบประมาณ ดังนั้นท่าทีในการวิเคราะห์และอภิปรายความรับผิดชอบเต็มก็คือรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน
ส่วนที่มีงบประมาณส่วนหนึ่งไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและ Soft Power นั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า แน่นอนจุดใหญ่สุด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ครองงบประมาณในสัดส่วนค่อนข้างสูง พรรคก้าวไกลก็ได้มีสโลแกนในการอภิปราย ที่ว่า "ignore Thailand เจ๊งไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้" คือเป็นการทำทุกวิถีทาง เพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิด ซึ่งเป็นการเบ่งงบให้เต็มที่ จะเห็นว่าวงเงินงบประมาณปีนี้สูงกว่าปกติ เพราะต้องการเบ่งให้ใกล้กับกรอบของการคลังเท่าที่ทำได้ ให้มากที่สุดเพื่อทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเกิดให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และเมื่อเบ่งให้ตัวเองโตก็จะไปเบียดงบอื่นๆด้วย งบประมาณที่สำคัญกับการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนก็โดนเบียดบัง ด้วยงบประมาณของโครงการดิจิตอลวอลเล็ต ทั้งๆที่ จริงๆแล้วงบประมาณถ้าเอาไปทำบางอย่างจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า ซึ่งนี่จะเป็นหลักที่พรรคก้าวไกลจากอภิปราย
ทั้งนี้ มีการแบ่งการอภิปรายออกเป็นรายด้าน เช่นด้านเศรษฐกิจ ด้านคุณภาพชีวิต ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านการปฏิรูปรัฐ ด้านประชาธิปไตย เป็นต้น เราพยายาม วิเคราะห์ให้ครบทุกด้านแต่อาจจะไม่ครบทุกกระทรวง และคงจะได้เห็นว่าสิ่งที่ถูกเบียดไป มีอะไรบ้างงบประมาณส่วนไหนที่ขาดไป และจะยังคงเห็นการตั้งงบประมาณบางอย่างที่ซ้ำซ้อน และไม่เป็นประโยชน์และอาจสามารถนำไปเป็นประโยชน์ในส่วนอื่นได้
ส่วนแผนรับมือหากมีองครักษ์พิทักษ์ฝั่งรัฐบาล นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า มีการ มอนิเตอร์กันตามปกติ ไม่ได้มีอะไรที่ต้องกลัว
ส่วนปัญหาการอภิปรายซ้ำซ้อนกันนั้น เราพยายามที่จะแยกหมวดหมู่หัวข้อ ซึ่งอาจจะมีบางคนที่มีเนื้อหาที่ไขว้กันบ้าง ซึ่งครั้งที่ผ่านมาแม้จะมีเนื้อหาที่ซ้ำกันบ้างแต่ประเด็นโดยรวมอาจจะแตกต่างกันอยู่