"พิธา" แถลงคดียุบพรรค อัดกกต. 2 มาตรฐานส่ง "ก้าวไกล" ขึ้นทางด่วนไปศาลรธน.
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกล ย้ำถึง 9 ข้อต่อสู้ ที่เคยแถลงไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะข้อต่อสู้ที่ ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจาก กกต.ได้ตั้งโต๊ะแถลงชี้แจ้ง ว่า เดินหน้าตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดมาตรา 92 กับ 93 ต้องใช้ร่วมกันแยกกันไม่ได้ ซึ่งในกรณีของพรรคก้าวไกล กลับใช้แค่มาตรา 92 จนเกิดคำถามว่า มันเป็น 2 มาตรฐาน ส่งพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน ในคดียุบพรรคหรือไม่ แต่สำหรับพรรคอื่นกลับใช้มาตรา 93 รวมด้วย ดังนั้น มองว่าไม่สามารถปล่อยให้การยุบพรรคใช้ได้ 2 ช่องทางตามใจ กกต. แต่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคที่ถูกกล่าวหาต่อสู้ข้อเท็จจริง ในชั้น กกต. ตามมาตรา 93 และระเบียบ
ที่ กกต. ร่างขึ้นมาเมื่อปี 2566
นายพิธา กล่าวอีกว่า เรื่องของคำวินิจฉัย ที่ 3/2567 ซึ่งเป็นคดีสั่งห้าม ไม่ให้ใช้นโยบายแก้ไข มาตรา 112 หาเสียง จึงไม่ผูกพันต่อการวินิจฉัยคดีนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นคนละข้อหา ความหนักของโทษก็ยังแตกต่างกัน
นายพิธา แถลงต่อไปถึงความคืบหน้าล่าสุด ซึ่งสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญสำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไปคือวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 กรกฎาคม 2567
2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ 1.พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่ และ 2. การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่
โดยคำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้องเพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง
ส่วนในคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า" ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ" เพียงอย่างเดียว
นายพิธา ยังกล่าวด้วยว่า ยังไกลเกินไปที่จะพิจารณาฟ้อง กกต. หากผลออกมาศาลยกคำร้องคดีนี้ ตอนนี้เราขอต่อสู้ ว่า การส่งร้องของ กกต.มันไม่เป็นธรรม ทำให้เกิด 2 มาตรฐานในการยุบพรรคการเมือง