"ปริญญา" มอง ศึก อบจ.ปทุมธานี ทุกอย่างจบที่ศาล มอง "เพื่อไทย" ไม่ถือเป็นการการันตีพื้นที่ หลัง "ก้าวไกล" ไม่ส่งคนลงชิง
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเลือกนายก อบจ. ที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายก อบจ. มีคะแนนชนะฉิวเฉียด สะท้อนถึงคะแนนนิยมของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยยอมรับว่า มีผล เมื่อนายทักษิณ และผู้นำพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียง แม้ว่าจะชนะ 1,000 กว่าคะแนน แต่ถือว่านายทักษิณ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะมีหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน ซึ่งต้องเข้าใจว่าจังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังกลับเสียพื้นที่ให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งก่อนหน้านี้ นายชาญ ก็เคยเป็นอดีตนายก อบจ.หลายสมัย แต่เพิ่งมาแพ้ พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ในสมัยที่ผ่านมา ฉะนั้นในทางกลับกันต้องวิเคราะห์ด้วยว่าเหตุใด พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ถึงแพ้ ซึ่งส่วนหนึ่งการเลือกก่อนเวลาอาจเป็นหนึ่งปัจจัย และอีกปัจจัยข้อหนึ่งคือเลือกนายกอบจ. ปทุมธานี สองครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกในช่วงผิดเทอม ขณะที่ จังหวัดปทุมธานีมีมหาวิทยาลัย 10 กว่าแห่ง ซึ่งนักศึกษาส่วนหนึ่งต้องย้ายทะเบียนบ้านมาในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงไม่มีระบบการเลือกตั้งล่วงหน้า จึงต้องเรียกร้อง กกต.ให้แก้กฎหมายท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน ดร.ปริญญา ยังมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถการันตีได้ว่าเอาชนะพรรคอันดับหนึ่งได้ เนื่องจากพรรคก้าวไกล ไม่ได้ส่งผู้สมัคร นายก อบจ. ลงเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการกลับมาของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดปทุมธานี เพื่อหวังชนะพรรคก้าวไกลในครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ กกต.จะ ประกาศรับรองนายชาญเมื่อใดและจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่นั้นสำคัญกว่า
นอกจากนี้ การจะประกาศให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ยังเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเรื่องของอีกพรรคหนึ่งคือพรรคภูมิใจไทยด้วย ดร.ปริญญา ระบุว่า ต้องเข้าใจว่านายชาญ มีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัคร ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็พูดถูก ไม่ได้ขาดคุณสมบัติแม้แต่ข้อเดียว เนื่องจากศาลยังไม่ได้พิพากษา แต่การชนะการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือของกระทรวงมหาดไทย มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2565 เพราะเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในสามพื้นที่ ซึ่งกฤษฎีกาตอบมาว่ามีผลมายังการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมาย เพื่อไม่ให้ยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน แต่ตนตั้งคำถามว่า ตอนสมัคร กกต.ได้แจ้งนายชาญหรือไม่ เนื่องจากมีแนวทางในลักษณะดังกล่าว รวมไปถึงพรรคเพื่อไทยทราบหรือไม่ หากทราบแล้วยังทำถือว่าพลาด และหากไม่ทราบก็ถือว่าพลาดเช่นกัน จึงเชื่อว่าเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยคงไม่ทำให้ตัวเองเสี่ยงในเรื่องที่กฤษฎีกามีคำวินิจฉัยในลักษณะนี้ และเรื่องนี้หากจะจบคงไปจบที่ศาลเพราะมาตรา 81 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. เมื่อศาลรับคำร้องแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ศาลสามารถมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งนายชาญ หรือพรรคเพื่อไทย สามารถไปร้องศาลได้ว่าขอให้คำสั่งเป็นอย่างอื่น