ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบกลุ่มเอเยนต์หลอกคนไทยไปทำงานต่างประเทศ อ้างเงินเดือนสูง ที่แท้ลวงกักขัง บังคับเป็นคอลเซ็นเตอร์ ที่เมียนมา

วันที่ 9 ก.ค. 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ร่วมกันจับกุม 2 ผู้ต้องหา ได้แก่

1.นายธีรพล หรือนายธนพล อายุ 31 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2871/2567 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 จับกุมบริเวณหน้าคอนโดแห่งหนึ่ง ถนนประชาอุทิศ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

พร้อมตรวจยึดของกลาง
1. โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ ไอโฟน รุ่น 14 โปรแม็กซ์ จำนวน 1 เครื่อง
2. โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ เหมยตู จำนวน 1 เครื่อง
3. โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ ไอโฟน รุ่น 11 จำนวน 1 เครื่่อง

2.นางสาวอรัญญา อายุ 21 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2870/2567 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 จับกุมบริเวณหน้าบ้านหลังหนึ่ง ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย

และแจ้งข้อหาเพิ่มในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร กับผู้ต้องหา 1 ราย ได้แก่ นางสาวณัฐณิชา อายุ 31 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2869/2567 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567



โดยทั้ง 3 คนเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลฯ ในความผิดฐาน 1.สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยเป็นธุระจัดหา พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ถ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมีชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีลักษณะคล้ายทาส และการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูตรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ และผู้ที่สมคบกันกระทำความผิดคนใดคนหนึ่ง ได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6 ประกอบ 6/1, 9, 52)
2.ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยเป็นธุระจัดหา พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีลักษณะคล้ายทาส และการอื่นใดอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6ประกอบ 6/1, 10, 52)
3.ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาน เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 309)
4.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใด ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310)
5.ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุศร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ
ด้วยประการอื่นใด พา หรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 320)
6.ร่วมกันโฆษณาจัดหางานโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด (พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 66, 88)



พฤติการณ์ก่อนหน้า สืบเนื่องจาก เมื่อเดือน ต.ค.2566 ต่อเนื่อง เดือน พ.ย.2566 รัฐบาลเมียนมา และกลุ่มพันธมิตรทางตอนเหนือของเมียนมาร่วมกับรัฐบาลจีน เปิดปฏิบัติการทลายแก๊งจีนเทาขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา พร้อมส่งตัวคนไทยที่ถูกหลอกลวงมาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 จำนวน 266 คน จากนั้นได้นำตัวเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง คัดแยกเหยื่อตามกระบวนการ NRM ที่เขตหนองจอก

ขณะที่กก.2 บก.ปคม. ได้รับมอบหมายให้ทำการสืบสวนสอบสวนกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่มีนายเฟยหยางเป็นหัวหน้า เฉพาะกลุ่มนี้พบว่าบุคคลที่ถูกช่วยเหลือมา เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 8 คน มีผู้ร่วมขบวนการ จำนวน 11 คน ที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดในคดีส่วนนี้ มีการแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน แบ่งเป็น ส่วนของ HR ที่เป็นคนไทย จำนวน 4 คน ทำหน้าที่หลอกคนไทยมาทำงานเป็นแอดมินตอบแชตลูกค้า จ่ายเงินเดือนๆ ละ 25,000 – 50,000 บาท

จากนั้นจะส่งต่อไปยังผู้ต้องหาที่เหลือ เพื่อนำตัวไปกักขังเพื่อบังคับใช้แรงงาน และบังคับให้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประเภท Hybrid Scam คือ ลักษณะหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน โดยพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคม. ได้ขอศาลอาญาออกหมายจับบุคคลทั้ง 11 คน ดังกล่าวไว้ในความผิดฐานตามข้างต้น

ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับ ว่านายธีรพล หรือนายธนพล (ชื่อเดิม) ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม ควบคุมการทำงานของคนไทยที่ถูกหลอกมา ให้เป็นไปตามที่นายเฟยหยาง บอสใหญ่สั่งการ โดยพบว่านายธีรพล ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่คอนโดแห่งหนึ่ง ถนนประชาอุทิศ เขตดินแดง กรุงเทพฯ จึงไปตรวจสอบ เมื่อพบตัวจึงเข้าแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ พร้อมนำตัวพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคม. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การปฏิเสธ โดยนายธีรพล อ้างว่า ก่อนเกิดเหตุตนเองทำงานเป็นพนักงานอยู่ในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา และได้คบหาเป็นแฟนกับชายชาวจีน ต่อมาชายชาวจีนได้ชักชวนให้มาอยู่ด้วยกัน และได้ช่วยเป็นล่ามแปลตามที่พูดเท่านั้น โดยไม่ได้เกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แต่อย่างใด



ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้รับแจ้งว่า นางสาวอรัญญา ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็น HR โพสต์หลอกลวงคนไทยมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย จึงควบคุมตัว ทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.เวียงชัย จ.เชียงราย ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคม. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น นางสาวอรัญญาให้การปฏิเสธ โดยยอมรับว่า ใช้เฟซบุ๊กที่มีตัวตนปลอม จัดหาคนไทยมาทำงานจริง แต่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการแจ้งข้อหาเพิ่มในเรือนจำ จำนวน 1 คน ได้แก่ นางสาวณัฐณิชา อายุ 31 ปี ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ ทำหน้าที่เป็น HR หลอกคนมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ยอมรับว่า จัดหาคนไทยมาทำงานจริง แต่ไม่รู้เรื่องการถูกบังคับแรงงาน หรือการทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์แต่อย่างใด

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย ฝากเตือนภัยพี่น้องประชาชนที่อาจตกเป็นผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากกลุ่มคนร้ายจะอ้างรายได้จำนวนมากมาล่อลวงเพื่อให้เกิดความสนใจ ดังนั้นขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโพสต์หรือประกาศชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์ให้ดีก่อนตัดสินใจ

ฝากเตือนผู้ที่คิดจะตั้งตัวเป็นเอเย่นต์ หรือนายหน้า หลอกลวงคนไทยไปทำงานที่ต่างประเทศ (คอลเซ็นเตอร์) ว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ที่มีอัตราโทษสูง จำคุกกว่า 12 ปี ปรับสูงสุดถึง 1,200,000 บาท พร้อมกันนี้ความผิดฐานค้ามนุษย์ยังเป็นความผิดมูลฐานหนึ่งในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งอาจถูกยึดทรัพย์ได้เช่นกัน

หากประชาชนมีเบาะแส หรือได้รับความเดือนร้อน สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์โทรสายด่วน 1191 หรือเพจเฟซบุ๊ก กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์