ชาวปากพนังกว่า 200 ราย ร่วมเปิดปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำ วันเดียวได้กว่า 2 ตัน สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งเตือนพบในทะเลหน้าอ่าวปากพนังแล้ว

วันที่ 14 ก.ค. 2567 หลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมล่าปลาหมอคางดำ ในพื้นที่อ่างบำบัดชลประทานน้ำเค็มของกรมชลประทาน ที่บ้านหน้าโกฎิ ตำบลขนาบนาค อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชาวบ้านจากหลายพื้นที่เข้าร่วมนำอุปกรณ์ประมงที่มี เช่น แห อวนลอย อวนล้อม เข้ามาร่วมกิจกรรมมากกว่า 200 ราย โดยนำเรือกระจายไปยังจุดต่างๆ ในแหล่งน้ำที่มีความกว้างถึง 184 ไร่ ซึ่งเป็นที่เก็บน้ำเค็มจากการระบายออกมาในการเลี้ยงกุ้งของเขตชลประทานน้ำเค็ม ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหล่งระบาดของปลาหมอคางดำอย่างรุนแรง และเป็นแหล่งที่ชาวบ้านอาศัยวิกฤตินี้เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ทุกวันอยู่แล้ว

โดยการปฏิบัติการล่าในวันนี้ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กรมประมง สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง ได้ร่วมกันระดมทุนมารับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ตามราคากลุ่มปลาเป็ด มีชาวบ้านที่หาปลาได้มาส่งจำหน่ายให้กับจุดรับเฉพาะกิจนี้จนถึงเวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา มีมากกว่า 2 ตัน แต่ปริมาณของปลามีรายงานว่ามากกว่านั้นอีกหลายตัน เนื่องจากผู้ที่หาปลาในกิจกรรม เมื่อได้ปลาจะคัดเลือกปลาที่มีขนาดไซส์ใหญ่ไปจำหน่ายในแหล่งรับซื้ออื่นที่กิโลกรัมละ 20 บาท โดยผู้รับซื้อนำไปทำปลาเหยื่อในการประมงพาณิชย์ แปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาแห้ง และเคยปลา ที่ได้รับความสนใจจากตลาดอย่างมากในขณะนี้

นายสำรอง อินเอก รักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า การทำลายให้หมดสิ้นไปจนถึงขณะนี้มีความยากลำบาก การแก้ไขปัญหาขณะนี้จึงมุ่งนำออกไปจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุดให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด ขณะที่การสำรวจนั้นพบว่า มีการพบเป็นหลักอยู่ใน 3 อำเภอ คือ หัวไทร ปากพนัง เชียรใหญ่ และล่าสุดมีรายงานพบใหม่อยู่ที่อำเภอท่าศาลา เป็นอำเภอที่ 4

นายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง เปิดเผยว่า นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงกุ้งทั้งในระบบปิดและเปิดแล้ว ทำให้ต้นทุนการกำจัดเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อบ่อ คือการใช้กากชาเข้าทำลาย อย่างไรก็ตามยังพบว่า มีปลาหมอคางดำเหล่านี้อยู่ในทะเลแล้ว โดยเฉพาะแนวปะการังชายฝั่ง แนวฝายเขื่อนหินกั้นคลื่นจะพบอยู่เป็นจำนวนมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกังวลอย่างมากว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงน้ำหลากจะกระจายพันธุ์ปลาเหล่านี้ไปได้ต่อเนื่องอีก