จันทบุรี ขึ้นธงแดง เตือนเขตเศรษฐกิจเมืองจันท์ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง ขณะที่ 4 อำเภอ เกิดน้ำท่วมท่วมฉับพลัน
วันที่ 29 ก.ค. 2567 สถานการณ์น้ำท่วม น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดจันทบุรียังไม่คลี่คลาย ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดจันทบุรี ได้ติดธงแดงที่แม่น้ำจันทบุรี เตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเฝ้าระวังยกของขึ้นที่สูง
ขณะที่มวลน้ำเริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางส่วนแล้ว อาทิ บ้านลุ่ม หัวแหลม พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองฝั่งจันทนิมิตร คลองขี้หนอน
ส่วนด้านนอกอำเภอขลุง อำเภอมะขาม อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ ตำบลแสลง อำเภอเมือง มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และสวนผลไม้ได้รับความเสียหาย
จังหวัดจันทบุรีได้จัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบจ. ท้องถิ่น ท้องที่ อาสาสมัครกู้ภัยสว่างกตัญญู ทหาร ตำรวจ เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่ประชาชน
เบื้องต้น สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมและร่องฝนจากความกดอากาศต่ำที่พัดพาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทำให้เกิดฝนตกในพื้นพื้นที่ ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 21 – 24 กรกฎาคม ได้เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง น้ำฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 150 มิลลิเมตร เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังรอการระบายในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ คือ อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอเมือง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวม 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน 578 ครัวเรือน 1,841 ราย ถนนชำรุด 1 เส้น ฝ่ายน้ำล้น 1 แห่งพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 26,000 ไร่ โดยมีทุเรียนโค่นล้มกว่า 300 ต้น
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอและจังหวัด บูรณากาการทรัพยากรจากทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิ อาสาสมัคร จิตอาสา เข้าร่วมเผชิญเหตุสามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ต่อมาระหว่างวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ปริมาณน้ำฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 340 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอมะขาม อำเภอเมือง อำเภอขลุง และอำเภอโป่งน้ำร้อน ทำให้มวลน้ำจำนวนมากมากหลากเข้าท่วมฉับพลันในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ ส่งผลกระทบต่อประชาชนรวม 16 ตำบล 74 หมู่บ้าน 7 ชุมชน 33,397 ครัวเรือน 9,130 ราย พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 41,222 ไร่
ปัจจุบันสถานการณ์รอบนอกได้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในหลายพื้นที่ และยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจเมืองจันทบุรี ริมแม่น้ำจันทบุรี ที่ต้องเปลี่ยนธงสัญลักษณ์เป็นสีแดง เพื่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำจันทบุรี ลดความสูญเสีย ลดผลกระทบเมื่อเกิดสถานการณ์สามารถให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็วปกติต่อไป