จับตาวันนี้! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีถอดถอน "เศรษฐา" ปมตั้ง "พิชิต" นั่งรัฐมนตรี ว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ขณะที่ "นายกฯ" ยันไม่มี แผนสำรองไว้รองรับสถานการณ์

วันนี้ 14 ส.ค. 67 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของ สว.40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงหรือไม่

จากกรณี นายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่ง จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

หากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว โดยมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย / แต่หากยกคำร้อง นายเศรษฐา ก็จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป

ซึ่งวานนี้ (13 ส.ค. 67) นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ และในวันนี้ จะส่งนายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปฟังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตนมีภารกิจแน่น เมื่อถามว่า หากไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีแผนสำรองอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องแผนสำรอง

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ถ้า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ยังสามารถรักษาการนายกฯ และปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น ว่า นายกฯ ไม่สามารถรักษาการได้ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที และต้องให้รองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน

ทั้งนี้ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า คนที่นายกฯแต่งตั้ง มีคดีติดตัว และดูเหมือนนายกฯก็จงใจไม่ถาม กฤษฎีกา แต่มันก็ไม่แน่ใจว่า จะออกในข้อพิจารณาทางด้านรัฐศาสตร์ หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ เขาจะพิจารณา 2 หลักไปพร้อมกัน แต่ในข้อกฎหมายต้องไม่มีข้อโต้แย้ง ส่วนทางการเมือง ก็อาจจะต้องดูบริบททางการเมือง ณ เวลานั้น แต่การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดไต่สวน ก็อนุมานได้ว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มันชัดอยู่แล้ว ไม่ต้องไต่สวนเพิ่มเติม

นายสุพจน์ ยังกล่าว มีเปอร์เซ็นต์ที่นายกจะรอด ว่ามันอาจจะมี 0.1% ที่มีข้อพิจารณาที่มันถกเถียงกันได้ ที่จะยกเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องได้