บุกพิสูจน์จุดก่อสร้างพระใหญ่ บนเทือกเขานาคเกิด หลังมีกระแสข่าวต้นเหตุโศกนาฏกรรมดินสไลด์คร่า 13 ศพ ด้านประธานมูลนิธิพุทธมิ่งมงคลฯ ยันขออนุญาตถูกต้อง ชี้ ก่อสร้างภายในวัดไม่น่าเกี่ยวกับเหตุดินสไลด์ เพราะโครงสร้างองค์พระใหญ่รองรับเกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 10 ริกเตอร์
จากกรณีเหตุการณ์ดินสไลด์ลงมาทับบ้านเรือนประชาชนและวิลล่าหรู พื้นที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม 13 ศพ มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก บ้านเรือนได้รับผลกระทบกว่า 200 ครัวเรือนใน 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน จนกระทั่งมีกระแสข่าวว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดดินสไลด์ครั้งนี้ อาจมาจากการก่อสร้างพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี หรือ พระใหญ่ บนเทือกเขานาคเกิดหรือไม่ นั้น
ล่าสุด (27 ส.ค. 2567) ทีมข่าวได้ลงพื้นที่บริเวณก่อสร้างประดิษฐานพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี หรือ พระใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร ความสูง 45 เมตร ณ พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง โดยสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวอยู่ริมหน้าผาที่มีความลาดชันเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดที่สื่อนำเสนอข่าวว่าเป็นจุดดินสไลด์ลงไปด้านล่างจนเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าว
จากการตรวจสอบของทีมขาวไม่พบร่องรอยของดินสไลด์บนลานจอดรถที่เขาพระใหญ่ แต่ห่างจากรั้วสแลนสีเขียวที่ทีมข่าวได้ข้ามไปดู พบว่า มีร่องรอยของน้ำไหลผ่านมาจากลานจอดรถลงมาตรงที่ทางเขาพระใหญ่ เอาเศษวัสดุก่อสร้างไปทิ้งไว้อาทิ เศษปูน อิฐ หิน และเศษไม้ที่ถูกร่องรอยของน้ำที่ไหลมาจากลานจอดรถพัดผ่านลงไปด้านล่าง ซึ่งในจุดนี้จะเห็นต้นบอนขนาดใหญ่ล้มอยู่แต่ต้นบอนป่าไม่ได้ถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ นั่นแสดงว่ากระแสน้ำไม่ได้ลงมามากจนทำให้ดินตรงนี้สไลด์ได้
ด้านนายธนกฤษ นวนแก่วง ผู้ดูแลลานจอดรถบนเขาพระใหญ่ เผยว่า การป้องกันดินบริเวณด้านหน้าสแลนก่อนที่น้ำจะไหลลงไปซ้ำที่จุดเดิม และกันน้ำให้ออกไหลไปอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน และด้านล่างเป็นฝายที่รับน้ำอยู่แล้วไม่มีความลาดชัน
ขณะที่นายสุพร วนิชกุล ประธานมูลนิธิพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 ทราบ การก่อสร้างพระใหญ่มีวิศวกรคำนวณน้ำหนักขององค์พระในการก่อสร้างในครั้งนี้แล้ว ซึ่งองค์พระจะหนักประมาณ 135 ตัน มีระบบการดินสไลด์ถึง 4 ชั้น เป็นรูปวงแหวนทรงกลมป้องกันแผ่นดินไหวได้ถึง 10 ริกเตอร์
นายสุพร ชี้แจงว่า ใต้ฐานพระใหญ่มีการก่อสร้างจริง ก่อนหน้านี้ใช้เป็นพื้นที่ให้พระสงฆ์ในวัดสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุงเพื่อนำหินอ่อนมาประดับให้ดูดี ส่วนอีกหนึ่งจุดที่เป็นโครงเหล็ก เดิมทีเป็นอาคารให้พระสงฆ์สวดมนต์และปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แต่ตอนนี้กำลังรื้อออก ส่วนพระพุทธรูปขนาดกลางที่อยู่ด้านข้าง กำลังจะย้ายไปประดิษฐานอีกที่หนึ่ง และหยุดก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่มีหนังสือแจ้งมาจากทางเทศบาลตำบลกะรนให้หยุดทำการก่อสร้าง
ส่วนกรณีชาวบ้านให้ข้อมูลว่าไม่ได้ขออนุญาต นายสุพร ยืนยันว่า ขออนุญาตถูกต้อง ก่อนหน้านี้ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ต่ออายุไปทั้งหมด 4 ครั้ง รวม 20 ปี แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาขอใบอนุญาตระยะยาว 30 ปี หน่วยงานหลักในการดำเนินคือสำนักงานพระพุทธศาสนา ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ส่วนข้อกังวลของชาวบ้าน ยอมรับว่าวิศวกรก็เป็นห่วง แต่ตนคิดว่าสาเหตุการเกิดดินสไลด์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับก่อสร้างภายในวัด เพราะโดยโครงสร้างขององค์พระสามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 10 ริกเตอร์ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุโดยละเอียด