"วราวุธ" ย้ำอย่าเข้าใจผิด อนุสัญญาสิทธิเด็ก ข้อ22 ไม่ได้ให้สัญชาติเด็กต่างชาติ ย้ำคุ้มครองดูแลเท่านั้น

วันที่ 9 ก.ย. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ท่านหนึ่งมีสื่อโซเชียลมีเดีย และพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเฉพาะข้อที่ 22 ที่กำหนดให้เด็กคนหนึ่งมีสิทธิที่จะได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาการรักษาพยาบาล เรื่องอาหาร เรื่องการเจริญเติบโต ที่ประเทศไทยจะต้องให้ความคุ้มครองกับเด็กที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยนั้น มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ภายใต้ข้อ 22 นั้นประเทศไทยจะต้องให้สัญชาติไทยกับเด็กเหล่านั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดโดยสิ้นเชิง

นายวราวุธ กล่าวว่า ขออนุญาตทำความเข้าใจว่า ในข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไม่ได้พูดถึงการให้สัญชาติประเด็นนี้เลยแม้แต่นิดเดียว สิ่งที่เน้นในข้อที่ 22 คือการคุ้มครองดูแลเด็กคนหนึ่งให้เขาสามารถเจริญเติบโตทั้งกายและใจตามสิ่งที่เด็กคนหนึ่งพึงจะมี และที่สำคัญข้อที่ 22 นี้ ทั่วโลกได้มีการนำไปประยุกต์ใช้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเทศไทยของเราในทางกลับกันเป็นประเทศสุดท้าย จากกว่า 100 ประเทศที่ให้การรับรองข้อที่ 22 นี้ใช้เวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะรับรองข้อบทนี้ แต่ว่าต้องขอย้ำบางท่านอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจะต้องไปดูแลเด็กต่างชาติ เด็กไทยเราไม่ดูแล ซึ่งในกรณีนี้เราดูแลเด็กทุกคน และในทางกลับกัน ถ้าหากว่ามีคนไทยไปตกระกำลำบากที่ต่างประเทศ หรือว่ามีเด็กไทยไปตกระกำลำบาก ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับประเทศอื่น ประเทศเหล่านั้นก็จะต้องดูแลเด็กไทยเช่นเดียวกับเด็กของเขาเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้สัญชาติกับผู้ใดโดยเด็ดขาด

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น ขออนุญาตทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าการที่ประเทศไทยให้การรับรองข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น ไม่ได้เป็นการรับรองให้สัญชาติกับผู้ใด ขอให้ความสบายใจกับพี่น้องประชาชนและทำความเข้าใจ และที่สำคัญขอฝากบอกต่อๆ กัน เพราะว่าความเข้าใจผิดนั้นกระจายเหลือเกิน แต่พอจะให้เข้าใจถูกไม่ค่อยกระจาย จึงขอฝากช่วยกันกระจายข้อมูลที่ถูกต้องด้วย