"เรืองไกร" ร้องรายวัน​!! ยื่น​ ป.ป.ช. สอบ​ "นายกฯ แพทองธาร" ชวน รมต.ถ่ายรูปท่ามินิฮาร์ท ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่

วันที่ 10 ก.ย. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาเปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. รีบทำการตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตาม มาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่ กรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรี ถ่ายรูปในท่ามินิฮาร์ท ขณะที่กำลังสวมเครื่องแบบชุดปกติขาว บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 หรือไม่ ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

          “ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”

          “ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึง ผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เป็นตัวการทำท่ามินิฮาร์ท และชวน ครม. ทำตามในระหว่างการถ่ายภาพร่วมกัน แต่หลังจากมีทีมงานทัก นายกรัฐมนตรียิ้มรับว่า “ลืมไปว่าใส่ชุดขาว” ซึ่ง ครม.  ก็มีการยกมือทำท่ามินิฮาร์ท ก่อนเอามือลงในเวลารวดเร็ว โดยมีรัฐมนตรีหลายคนทำตาม เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นต้น และมีรัฐมนตรีอีกหลายคนไม่ได้ทำตาม เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นต้น รัฐมนตรีแต่ละคนจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์และสถานที่ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อค้นหาคลิปจาก tiktok จะพบพยานหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่ชัดเจนทั้งภาพ และเสียงจำนวนมาก ซึ่งสาธารณชน และประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่าย ต่างแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ดังนั้นการที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมถ่ายรูปที่ทำเนียบรัฐบาล และเป็นผู้เชิญชวนให้คณะรัฐมนตรีร่วมทำท่ามินิฮาร์ท ขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาวนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ควรตรวจสอบก่อนว่า การกระทำดังกล่าวของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ส่งผลภาพลักษณ์และกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือความศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี