มท.1 สั่งการอธิบดีกรมการปกครอง จัดชุดปฏิบัติการพิเศษร่วมกับทีมสหวิชาชีพ "พิทักษ์ดอกเอื้อง" เข้าทำการสืบสวนจับกุมนายจ้างโหดนำเด็กไทใหญ่บังคับใช้แรงงาน และล่วงละเมิด หลังมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ประสานขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

วันที่ 14 กันยายน 2567 มีรายงานว่า เวลา 6.30 น. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง บูรณาการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจประชาชื่น กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) นำหมายค้นของศาลอาญาเข้าตรวจค้นและจับกุม เจ้าของร้านหมาล่าย่านงามวงศ์วาน 32 จ้างเด็กต่างด้าวเป็นแม่บ้านและทำงานร้านหมาล่า โดยนายจ้างมีพฤติการณ์ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ด้วยอาวุธปืนเพื่อบังคับให้ทำงาน นอกจากนี้ยังนำหนี้สินภาระผูกพันมาเป็นเหตุแห่งการบังคับให้ทำงาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการค้ามนุษย์ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที




สายลับพนักงานฝ่ายปกครองได้เข้าทำการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่า นายจ้างเปิดบ้านเป็นสถานที่ขายอาหารสำหรับออนไลน์เท่านั้น ไม่มีโต๊ะให้ลูกค้านั่งทานที่ร้าน ร้านหมาล่าดังกล่าวขายผ่านช่องทางแอปฯ เดลิเวอรี่ ตั้งแต่เวลา 18.30 - 04.00 น. พบบริเวณหลังบ้านมีแรงงานต่างด้าวทำงาน จำนวน 7 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 2 ราย จากการตรวจค้นตามหมายศาลอาญาในบ้านพบอาวุธปืนไม่มีทะเบียน จำนวน 1 กระบอก สิ่งเทียมอาวุธปืนจำนวน 3 กระบอก พร้อมโทรศัพท์มือถือที่นายจ้างยึดไว้เพื่อไม่ให้ติดต่อครอบครัว




ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นจากพ่อแม่ของบุคคลที่คาดว่าเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานแจ้งว่า นายจ้างบังคับลูกของตนทำงาน หากไม่ทำจะถูกลงโทษด้วยการตี โดยใช้โซ่มัดสุนัขตีตามขาและตามเข่า เมื่อไม่สบายมักจะถูกนายจ้างผู้ชายบังคับให้ถอดเสื้อผ้าและเข้าห้องน้ำด้วยกันโดยอ้างว่าจะเช็ดตัวให้ ยึดโทรศัพท์มือถือห้ามติดต่อกับใคร พ่อแม่ยืนยันตั้งแต่ลูกทำงานเคยได้รับเงิน 5,000 บาทเพียงครั้งเดียว




โดยจากการสืบสวนนายจ้างอาจเข้าข่ายการกระทำความผิด 6 ข้อหาหนัก ดังนี้

1. บังคับใช้แรงงานหรือบริการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 - 400,000 บาทต่อผู้เสียหาย 1 คน

2. จ้างเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเข้าทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000 - 800,000 บาท ต่อลูกจ้างเด็กที่ผิดกฎหมาย 1 ราย จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ หากเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย โทษปรับตั้งแต่ 800,000 - 2,000,000 บาท ต่อลูกจ้างเด็กที่ผิดกฎหมาย 1 ราย หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. เป็นผู้รับคนต่างด้าวทำงาน หรือรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000 - 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน

4. ข่มขื่นใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามมาตรา 309 และ 310 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. พรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญา
-มาตรา 317 พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 - 300,000 บาท
-มาตรา 318 พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 - 200,000 บาท
-มาตรา 319 พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 - 200,000 บาท

6. ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต




เจ้าพนักงานชุดจับกุมได้แจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับ และควบคุมตัวผู้ถูกจับมาทำบันทึกจับกุมตามข้อกล่าวหาเพื่อส่งพนักงานสอบสวนต่อไป ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ชุดช่วยเหลือผู้เสียหายเข้าทำการช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหาย เพื่อคัดกรองเด็กซึ่งคาดว่าเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน หรือการค้ามนุษย์และนำตัวเด็กผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) เพื่อคัดกรองคัดแยก และเตรียมนำตัวส่งเข้าคุ้มครอง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจจากการตกเป็นผู้เสียหายต่อไป




นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับและพยายามกำจัดให้หมดสิ้นไป กระทรวงมหาดไทยมีการดำเนินนโยบายจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยมีภารกิจที่หลากหลายให้ต้องเฝ้าระวังการกระทำความผิด โดยกรมการปกครองมีภารกิจที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในภารกิจการจัดระเบียบสังคมด้วย และจะต้องดำเนินกระบวนการทางกฎหมายอย่างรอบคอบและจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำต่อเด็กและเยาวชน จะเป็นการสร้างตราบาปให้กับเด็กไปตลอดชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันดูแลสอดส่องและระมัดระวัง

หากพบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหรือจังหวัด หรือโทรแจ้งได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย หมายเลข 1567