ปคบ. - อย. บุก 3 โกดัง ยึดยากันยุงจีนเถื่อนขายออนไลน์ พบสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) เป็นสารอันตราย ทั่วโลกห้ามใช้ แต่โฆษณาว่าใช้ได้กับสตรีมีครรภ์ เด็กอ่อน ไม่มีผลหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง
วันที่ 17 ก.ย. 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงตัดตอนแหล่งจัดเก็บและจำหน่ายยากันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน ค้น 3 จุด ยึดของกลางกว่า 7,300 ชิ้น มูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากอย. ให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันยุงของอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนควบ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงดังกล่าว ตรวจพบสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้สืบสวนพบว่า ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ผู้ขายมักโฆษณาข้อความระบุใช้ได้กับสตรีมีครรภ์ เด็กอ่อน ไม่มีผลหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อเข้าใจผิดเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาดจึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจและ เจ้าหน้าที่ อย. ได้นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าและจุดกระจายสินค้าในพื้นที่ 3 จุด คือ 1. สถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า อยู่ในพื้นที่เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีนบรรจุอยู่ในกล่อง ขนาดบรรจุ 45 มิลลิลิตร จำนวน 2,213 กล่อง ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้า ชนิดขวดยังไม่บรรจุกล่อง ฉลากภาษาจีน ขนาด 45 มิลลิลิตร จำนวน 1,264 ขวด หัวปลั๊กไฟไฟฟ้าใช้ประกอบผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยไฟฟ้า สีฟ้าและสีเขียว จำนวน 1,545 อัน และกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์จุดกันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากภาษาจีน จำนวน 200 กล่อง
2. สถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า อยู่ในพื้นที่เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากภาษาจีน สัญลักษณ์เด็กหัวจุกสีขาว 16 กล่อง
3.สถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากภาษาจีนรูปกระต่ายจำนวน 1,600 ขวด หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้ประกอบผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยไฟฟ้าจำนวน 750 อัน สเปรย์กำจัดแมลงไรฝุ่นยี่ห้อ Spray Green prickly Ash ไม่มีฉลากภาษาไทยจำนวน 20 ขวด
จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติมพบว่า ทั้งสามจุดมีการนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้สถานที่จัดเก็บจุดต่างๆ เพื่อรอคำสั่งซื้อและแพ็กส่งให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยมีนายทุนเป็นคนจีน ส่วนวิธีการการจำหน่ายสินค้านั้นจะขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังต่างๆ โดยนำขายในราคาขวดละ 10 - 20 บาท ขณะที่ต้นทุนนำเข้ามาราคาขวดละ 5-8 บาทเท่านั้น
ด้าน ภก.วีระชัย ระบุว่า หลังจากล่อซื้อสินค้าทั้งสี่ชนิดได้นำไปตรวจหาสารต้องห้าม พบว่า มีสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้ รวมถึงที่ประเทศอเมริกา และสหภาพยุโรป หรือแม้แต่ในประเทศจีนเองก็ตาม ซึ่งมีอันตรายทั้งต่อผู้ใหญ่และเด็ก ส่งผลในระยะยาว
ขณะที่ พล.ต.ต.วิทยา กล่าวว่า จากการสอบสวนพนักงานประจำโกดังดังกล่าวได้ระบุว่า สินค้าดังกล่าวที่ถูกจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์มีลูกค้าให้ความสนใจและสั่งซื้อเดือนละ 2000 ชิ้น ต่อ1 โกดัง อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่เชื่อว่ายังจะมีโกดังอยู่ในจุดอื่นๆ อีก ซึ่งอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม และยังเชื่อว่าสินค้าเหล่านี้มีกระจายอยู่ในพื้นที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา และปทุมธานี