นครพนมวิกฤต น้ำโขงสูงหนุนลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม จนเอ่อล้นท่วมนาข้าว-พื้นที่เลี้ยงสัตว์แล้ว 80,000 ไร่ หนักสุด อ.ศรีสงคราม กลายเป็นเกาะกลางน้ำ เริ่มขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ระดับฟางอัดก้อน เร่งแจกจ่ายพื้นที่ประสบภัย

วันที่ 19 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากระดับน้ำโขงเกือบ 12 เมตร ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำแนวตลิ่งติดชายแดนแม่น้ำโขง ยังกระทบลำน้ำสายหลัก ไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ได้รับผลกระทบหนักเริ่มวิกฤต เนื่องจากปริมาณน้ำล้นเกินความจุถึงร้อยละ 50 ส่งผลกระทบหนักเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร ภาพรวมทั้งจังหวัดนครพนม ประมาณ 80,000 ไร่




หนักสุดพื้นที่ อ.ศรีสงคราม มีพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประมาณ 50,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงไม่ลดลงช่วง 1 -2 สัปดาห์ คาดว่าจะได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสำรวจให้การช่วยเหลือชดเชยเยียวยา ส่วนพื้นที่บ้านเรือนเริ่มได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังแล้วบางส่วน คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากปัญหาน้ำโขงหนุน




พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยได้รับผลกระทบหนักสุด คือ พื้นที่ บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบเกือบทุกปี เนื่องจากมีที่ตั้งติดกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลักษณะคล้ายเกาะกลางน้ำ มีบ้านเรือนเป็นจุดเสี่ยงประมาณ 300 หลังคาเรือน หลังจากน้ำเอ่อล้นกระทบท่วมบ้านเรือน แต่ชาวบ้านจะคุ้นเคยเป็นวิถีชีวิต สามารถปรับตัวตามสภาพได้




โดยมีการสร้างบ้านเรือนยกสูงและมีการเก็บสิ่งของขึ้นที่สูงเตรียมพร้อมทุกปี แต่ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โค กระบือ เนื่องจากเป็นพื้นที่หมู่บ้านที่มีการเลี้ยงกระบือ จำนวนมากกว่า 1,000 ตัว ปกติจะปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ เพราะมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์หลาย 10,000 ไร่ แต่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ต้องต้อนโคกระบือไปเลี้ยงบนเกาะที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงทำให้เริ่มขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์ บางรายแบกภาระซื้อวันละนับ 1,000 บาท ส่วนนาข้าวจะเพาะปลูกทำนาปี ช่วงฤดูฝนหากปีไหนน้ำท่วมจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ต้องรอชดเชยเยียวยาจึงหันมาทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งส่วนใหญ่




ขณะเดียวกัน ทางปศุสัตว์จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม ด่านกักกันสัตว์นครพนม และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้ระดมจัดหาฟางแห้งอัดก้อน ลงพื้นที่ไปแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นแจกจ่ายแล้วกว่า 2,000 ฟ่อน อยู่ระหว่างเร่งจัดสรรให้การดูแลช่วยเหลือ ให้เพียงพอกับความต้องการเกษตรกร เชื่อว่า หากระดับน้ำไม่ลดอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ยิ่งจะส่งผลกระทบหนัก