อ.ปรเมศวร์ ชี้กรณีครูเบญ ผิดปกติ 100% มองความล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม ฝากถึงคนที่เกี่ยวข้อง มีทางรอด!
วันที่ 22 ก.ย. 2567 จากกรณี น.ส.เบญญาภา หรือครูเบญ ที่สอบติดพนักงานราชการทั่วไปอันดับที่ 1 เอกวิทยาศาสตร์ สังกัด สพม.สระแก้ว แต่ผ่านไป 3 วัน ชื่อกลับหายไป ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ได้สัมภาษณ์นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยเผยถึงกรณีความผิดพลาดดังกล่าวว่า โอกาสผิดพลาดในการประกาศผลสอบแทบไม่มี ในฐานะที่ตนเคยเป็นกรรมการและประธานสอบ การตรวจข้อสอบในขั้นตอนแรกจะตรวจด้วยมือ และเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จะเปิดเผยลำดับของคนที่ 1-10 ซึ่งระบบจะประมวลผลเอง โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย
การอ้างว่าลงคะแนนผิด อ.ปรเมศวร์ เผยว่าไม่น่าจะผิดได้ เพราะตั้งแต่เป็นประธานสอบมาก็ไม่เคยลงคะแนนผิด การตรวจข้อสอบต้องมีการตรวจแล้วตรวจอีก ก่อนประกาศก็ตรวจซ้ำอีก ทั้งนี้หากผู้สอบพบว่าตนเองมีคะแนนน้อยก็สามารถร้องขอตรวจข้อสอบตัวเองได้ หรือหากพบว่าไม่มีคำตอบ ผู้สอบสามารถยกมือโต้แย้งในห้องสอบได้เลย
ทั้งนี้ ตนยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อประกาศผลแล้วคณะกรรมการสอบได้มีการประชุมหรือไม่ว่า ในข้อสอบมีความผิดพลาดจนส่งผลให้มีการปรับแก้ประกาศเป็นฉบับที่ 2 หากตามคำกล่าวอ้างของรองเลขาธิการ สพฐ.ที่ระบุว่า มีข้อสอบผิด 3 ข้อ หากผิด 3 ข้อจริง ลำดับที่ 1 ไม่ควรหลุด และตนตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประกาศผลสอบใบแรกมีตราครุฑ แต่ใบที่ 2 ไม่มีตราครุฑ รวมถึงไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ประกาศผลสอบใหม่ เพราะการประกาศผลสอบใหม่ต้องมีประกาศและแจ้งเหตุผลว่าทำไมต้องประกาศผลใหม่
และหลังจากประกาศผลแล้วมีคนโทรไปหาครูเบญ ตนมองว่ายิ่งแปลกไปใหญ่ รวมทั้งรายชื่อที่มาแทนครูเบญ มีญาติเป็นผู้ใหญ่ในจังหวัดอีก จึงทำให้เกิดเรื่องอิรุงตุงนัง พอครูเบญขอดูคะแนนก็ไม่ให้ดู แล้วยังมีการพาไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวอีก ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำอะไร และสังคมส่วนใหญ่ต้องการคำตอบว่า เรียกครูเบญเข้าไปพบในเวลานอกราชการเพื่ออะไร
อ.ปรเมศวร์ เผยอีกว่า เรื่องนี้จะจบง่ายสุดเลย คือ เปิดคะแนนครูเบญออกมาเลย ไม่ต้องอ้าง PDPA เพราะเจ้าตัวขอเอง และบอกคะแนนของทุกคนด้วยโดยไม่ต้องบอกชื่อ โดยให้ครูเบญยืนยันว่าเป็นกระดาษคำตอบของตัวเองหรือไม่ ซึ่งตนมองว่ามันไม่น่าจะผิดถึงขั้นไม่ผ่าน 60% หากคะแนนไม่ถึงจริงครูเบญก็ยอมรับ แต่หากไม่ใช่ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่ากระดาษคำตอบที่แท้จริงไปอยู่ไหน
ทั้งนี้ ต้องมีการสอบปากคำคนที่เป็นผู้กรอกคะแนนตั้งแต่ต้น รวมถึงกรรมการผู้ตรวจสอบความถูกต้องที่มีอย่างน้อย 3-4 คน ซึ่งหากตรวจสอบและพบว่ามีความผิดจริง จะถือว่าบุคคลเหล่านี้มีความบกพร่อง
อ.ปรเมศวร์ ยังเปิดเผยการรับโทษของผู้กระทำผิดอีกว่า ในสมัยนี้หากว่ากันตามตรง ราชการเอื้อประโยชน์กันอยู่แล้ว โทษส่วนใหญ่จะภาคทัณฑ์ ว่ากล่าวตักเตือนแล้วก็ให้อยู่ต่อ ซึ่งหากมีความผิดจริงก็จะได้รับโทษทางวินัยเรื่องของการประมาท ส่งผลไปถึงการว่ากล่าวตักเตือนและลดเงินเดือน แต่ไม่ถึงขั้นปลดออกหรือไล่ออก แต่สำหรับกรณีดังกล่าว หากมีผู้ร่วมขบวนการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไปให้ปากคำต่อ ป.ป.ช. จะถือว่าเป็นพยาน ไม่ดำเนินคดี แต่ตัวต้นตอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ หากมีการตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริง มีโทษถึงขั้นให้ออกจากราชการ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการสอบ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกคนที่เป็นต้นน้ำและปลายน้ำ อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการด้วยว่าทำไมถึงตรวจสอบล่าช้า
ส่วนกรณีการพาครูเบญไปพูดคุยแบบส่วนตัวและยึดโทรศัพท์ อาจเข้าข่ายการกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำให้เสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพถือเป็นโทษทางอาญา
อ.ปรเมศวร์ เผยอีกว่า เรื่องนี้จบลงค่อนข้างยาก เพราะมันมาไกลแล้ว และมองว่า "ความล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม" ซึ่งตามคำกล่าวอ้างว่า ที่ต้องประกาศผลสอบใหม่เพราะมีข้อสอบผิด 3 ข้อ ประเด็นนี้ก็ควรให้ตำรวจไซเบอร์ตรวจสอบว่ามีการปรับแก้หรือไม่ แต่ในวันนี้ความเชื่อถือน้อยมากแล้ว อยากฝากไปถึงท่านรัฐมนตรีว่า จุดเล็กๆ ของคนๆ หนึ่งที่สอบไม่ได้ อย่าคิดว่าช่างหัวมัน นี่คือจุดที่ยิ่งใหญ่ที่ชี้ให้เห็นถึงความโปร่งใสของราชการ ที่ต้องได้รับการแก้ไขในอนาคต
หลังจากนี้ กระบวนการสอบต้องไม่รีบขนาดนี้ ต้องมีระยะเวลาที่เพียงพอในการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งในอนาคตควรมีการประกาศคะแนนเพื่อให้ผู้สอบรู้ด้วย และต้องมีหน่วยงานกลางมาช่วยในการตรวจสอบ
เรื่องนี้ตนไม่ได้เข้าข้างใคร แต่อยากให้มีความชัดเจน เพราะตอนนี้สังคมต้องการความชัดเจน และความรวดเร็วมากที่สุด ดังนั้นส่วนของราชการทุกส่วนจะต้องมีความชัดเจนและโปร่งใส ในครั้งนี้ตนไม่ได้บอกว่าครูเบญต้องสู้แล้วจะชนะ แต่ตอนนี้ครูเบญกำลังเป็นตัวแทนของสังคมที่จะชี้ความถูกต้องและความโปร่งใสในกระทรวงศึกษาธิการ และมองว่าครูเบญเป็นตัวแทนของคนอีกหลายคนในอนาคต รวมถึงอาจเป็นจุดๆ หนึ่งที่ทำให้การทุจริตในประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลง