กรมราชทัณฑ์ ยืนยัน หนุ่มร้องสอบติดกรมราชทัณฑ์แต่ถูกตัดชื่อ วุฒิการศึกษาขัดกับการรับรองของสำนักงาน ก.พ.

วันที่ 23 กันยายน 2567 กรณีนายสุรินทร์ อายุ 40 ปี เข้าร้องเรียนที่มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมว่า ตกเป็นผู้เสียหายในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากสอบผ่านทุกขั้นตอนจนถึงขั้นตอนรายงานตัวแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตัดชื่อออกคล้ายกรณีครูเบญ โดยอ้างว่าคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนด ทั้งที่ได้ขอใบรับรองจากสถานศึกษา และเอกสารต่างๆ มายืนยันแล้วก็ตาม

ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารชี้แจง ระบุว่า ตามที่มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้แถลงข่าว กรณีนายสุรินทร์ (ขอสงวนนามสกุล) ได้เข้าร้องเรียนกับมูลนิธิฯ กรณีที่สอบผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทั้งหมดแล้ว แต่ภายหลังกลับมีเจ้าหน้าที่แจ้งมาว่า คุณสมบัติวุฒิการศึกษาไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า จากประกาศฯ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน (งานควบคุมผู้ต้องขังชายและอื่นๆ) ได้กำหนดวุฒิการศึกษาของผู้สมัครสอบแข่งขันฯ ต้องเป็นผู้ได้รับ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรืออนุปริญญาหลักสูตร 2 ปี หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ อนุปริญญาหลักสูตร 3 ปี ในทุกสาขาวิชา เท่านั้น” โดยมิได้เปิดรับสมัครคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน พร้อมกันนี้ ยังได้ระบุเงื่อนไขการสมัครสอบแข่งขันฯ ว่า ผู้สมัครสอบจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตามประกาศรับสมัครฯ และจะต้องกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ในใบสมัครให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครสอบแข่งขัน หรือตรวจพบว่าเอกสารหลักฐานต่าง ๆ หรือคุณวุฒิ ซึ่งผู้สมัครสอบนำมายื่นไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามประกาศรับสมัครสอบ กรมราชทัณฑ์จะถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบแข่งขันครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น รวมทั้งหากปรากฏภายหลังว่า ผู้สมัครสอบรายใดมีคุณสมบัติทั่วไปหรือคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งไม่ตรงตามประกาศรับสมัครสอบ ก็จะไม่มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่สอบแข่งขันดังกล่าว

กรณีของนายสุรินทร์ฯ กรมราชทัณฑ์ ได้มีหนังสือแจ้งให้มารายงานตัวในวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับราชการ ด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ผู้สมัครสอบรายดังกล่าวได้ตรวจสอบคุณสมบัติและวุฒิการศึกษาของตนเองถูกต้องแล้ว ประกอบกับกรมราชทัณฑ์มีความต้องการบุคลากรเพื่อเสริมอัตรากำลังให้กับเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก แต่กรมฯ ก็ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อความถูกต้องก่อนออกคำสั่งแต่งตั้งฯ และจากการตรวจสอบพบว่า นายสุรินทร์ฯ ใช้คุณวุฒิ “ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง)” ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศรับสมัครฯ เจ้าหน้าที่จึงได้โทรศัพท์ประสานในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เพื่อขอเอกสารคุณวุฒิเพิ่มเติม อันเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ให้กับนายสุรินทร์ฯ อย่างเต็มที่แล้ว และกรมฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 แจ้งให้นายสุรินทร์ฯ ทราบถึงสาเหตุที่ไม่สามารถบรรจุได้เนื่องจากขาดคุณสมบัติ โดยมิได้เพิกเฉยหรือเงียบหาย ไม่ได้ติดต่อกลับดังที่กล่าวอ้าง
จากนั้นกรมฯ จึงได้มีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ซึ่งไม่มีชื่อนายสุรินทร์ฯ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามประกาศรับสมัครสอบดังกล่าว อย่างไรก็ดี นายสุรินทร์ฯ ยังคงมีสิทธิ์ในการยื่นเอกสารเพื่อขออุทธรณ์การพิจารณาบรรจุแต่งตั้งในครั้งนี้ได้

ต่อมานายสุรินทร์ฯ ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือจากสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นการอุทธรณ์ตามสิทธิ์ที่พึ่งได้ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่ระบุว่า เป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง สาขาวิชาพลศึกษา หลักสูตร 2 ปี เป็นระดับอนุปริญญา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. แล้วพบว่า ขัดกับการรับรองคุณวุฒิของสำนักงาน ก.พ. ที่มิได้ระบุว่าประกาศนียบัตรดังกล่าว คือ อนุปริญญา ที่สำคัญกรมราชทัณฑ์มิได้เปิดรับสมัครคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน จึงถือได้ว่าผู้สมัครสอบแข่งขันฯ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและไม่มีสิทธิเข้ารับการสอบแข่งขันฯ การใดที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สำหรับผู้ขาดคุณสมบัติให้ถือเป็นโมฆะ

นอกจากนี้ การที่ผู้สอบแข่งขันได้ฯ จะลาออกจากหน่วยงานหรือสถานที่ทำงานเดิมเมื่อใดนั้น สามารถกระทำได้ตามสิทธิ์ของผู้สอบแข่งขันได้ฯ โดยการที่กรมราชทัณฑ์ได้มีการประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ฯ หรือมีหนังสือแจ้งระยะเวลาการดำเนินการ เป็นเพียงการแจ้งห้วงระยะเวลาให้ทราบขั้นตอนและเตรียมความพร้อมสำหรับการบรรจุแต่งตั้ง โดยกรมราชทัณฑ์จะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แม้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้วก็ตาม ก็จะมีกระบวนการตรวจสอบวุฒิการศึกษาและอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง หากตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่าผู้สอบแข่งขันได้ฯ รายใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ กรมราชทัณฑ์จักต้องดำเนินการให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่ สำนักงาน ก.พ. กำหนด ทุกประการด้วยความถูกต้อง จึงชี้แจงมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง