ศปช. เตือน 11 จังหวัดใกล้เจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ ทั้งกทม. ปริมณฑล เฝ้าระวังน้ำท่วม หลังระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,250 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ออมสินเร่งจ่ายเยียวยา และเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติเพิ่มเติมสัปดาห์นี้

วันนี้ (6 ตุลาคม พ.ศ. 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สำหรับแผนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ จะคงการระบายน้ำที่ 2,250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นท้ายเขื่อนฯ 11 จังหวัด

“ขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัดได้แก่ คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณ จ.ชัยนาท อ.สรรพยา และวัดสิงห์ (ตำบลโพนางดำตก) , อ.เมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.สิงห์บุรี , อ.ป่าโมกและไชโย (วัดไชโย) จ.อ่างทอง , อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และเสนา (ตำบลหัวเวียง) จ.พระนครศรีอยุธยา , อ.เมืองปทุมธานีและสามโคก จ.ปทุมธานี , อ.ปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อ.เมืองนนทบุรี (ต.ไทรม้าและบางไผ่) จ.นนทบุรี ทั้งนี้ได้มีการประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ย้ำประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ระดมกำลังเพื่อช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว”

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่ลงทะเบียนผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ข้อมูลล่าสุด (4 ต.ค. 67) มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงิน รวม 84,224 ครัวเรือน และได้นำส่งข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันจากจังหวัดให้ ธ.ออมสินแล้วจำนวน 5 ครั้ง รวม 10,978 ครัวเรือน เป็นเงิน 54,944,000 บาท และ ธ.ออมสิน ได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยสำเร็จแล้วจำนวน 4 ครั้ง รวม 8,787 ครัวเรือน เป็นเงิน 43,987,000 บาท โดยจะทำการโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 5 ภายในวันที่ 8 ต.ค. นี้

“ขอให้ประชาชนที่ต้องการรับเงินช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่กองช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปภ. หมายเลข 0-2637-3508 - 10,12 หรือ 089-600-6777 และ 084-874-7387 และหากต้องการสอบถามเรื่องการยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ https://flood67.disaster.go.th ติดต่อได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปภ. หมายเลข 0-2637-3604-06 และ 089-968-1232”

“คาดว่าในที่ประชุม ครม. ในวันอังคาร 8 ต.ค. นี้จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 กรณีน้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วันและทรัพย์สินเสียหายหรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเข้ามา” นายจิรายุกล่าวเพิ่มเติม

 

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลา 10.00 น. สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่ เริ่มคลี่คลาย โดยข้อมูลจากจุดตรวจวัดระดับน้ำ P1 เชิงสะพานนวรัฐ พบว่าระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 4.90 เมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ ระดับน้ำจะทรงตัวระยะหนึ่งและจะลดระดับจนสู่สภาพการไหลปกติ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ (อุทกภัย) จ.เชียงใหม่ สายด่วน 1567 และ 1786
นอกจากนี้กรมชลประทานได้เปิดจุดให้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เส้นทางดังนี้ 1.ศาลเด็ก-รัตนโกสินทร์-วัดสิงห์คำ 2.ไนท์บาซา-ช้างคลาน บัวระวง 3.ท่าแพ-ประตูหายยา-มหิดล 4.มงฟอร์ต (มัธยม)-สะพานภาค 5

ด้านจังหวัดเชียงราย วันนี้ (6 ต.ค.67) จะเริ่มเปิดยุทธการเค้าท์ดาวน์นับถอยหลังตั้งแต่วันที่ 6 - 31 ต.ค. 67 เพื่อคืนพื้นที่ให้กับประชาชน สำหรับภาพรวมการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน โดยกระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก มีความคืบหน้าอย่างมาก ขณะที่การซ่อมแซมระบบประปาจะเร่งปฏิบัติการเพื่อให้มีน้ำประปาใช้ภายในชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการตรวจสอบฟื้นฟูระบบไฟฟ้าในบ้านที่ฟื้นฟูสำเร็จเแล้วในช่วงระหว่างวันที่ 7 - 9 ต.ค.นี้ “ในวันที่ 8 ต.ค. นี้ กระทรวงกลาโหมส่งนักเรียนนายสิบเหล่าทหารช่างอีก 140 นายเข้ามาร่วมภารกิจ จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาว อ.แม่สาย กลับเข้าสู่ที่พัก เพื่อร่วมปฏิบัติการฟื้นฟูเมืองแม่สายกับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการนำดินโคลนออกจากพื้นที่และร่วมกันฟื้นฟูเมืองแม่สายในทุกด้าน” นายจิรายุกล่าว