มือมืดโพสต์ป่วนขู่ก่อเหตุห้างดังโคราช โจ๋พิมายซวย ตร.ตรวจสอบถูกนำรูปไปแอบอ้าง
วันที่ 13 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “กลุ่มข่าวคนโคราชบ้านเอ๋ง” ซึ่งได้มีการโพสต์ไว้หลายโพสต์ โดยระบุว่า “ผมอยู่ในห้างนะครับรอเวลา เพราะว่าผมก็ไม่บอกนะครับว่าผมจะยิงตอนไหน รอหาหัวใครสักคนนี้ละครับ” ต่อมาก็ได้โพสต์ต่ออีกว่า “ตอนนี้ผมมาถึง (ชื่อห้างดังแห่งหนึ่ง) ไม่มีใครรู้หรอกว่าผมยิงถูกหัวใคร ผมทำจริงต้องรอเวลาว่าหัวใครจะเป็นผู้โชคดีต้องใช้เวลานะครับเพราะว่าคนเยอะ”
จากนั้นก็ได้โพสต์อีกข้อความหนึ่งว่า “มีให้ลุ้นนะครับ (ชื่อห้าง) ใครก็ได้ มาเป็นเป้าให้ผมยิงเล่นที จะยิงหัวใครจะเป็นผู้โชคดีที่ให้ผมยิงเล่นตอนนี้กำลังจริงมีปืนด้วยจะให้เปิดตัวใครเห็นก็รู้”
ต่อมาก็ได้โพสต์ข้อความอีก คราวนี้มีภาพปืนบรรจุอยู่ในกล่อง ข้างๆ กล่องปืนมีกล่องกระสุนและหูฟังวางข้างๆ ซึ่งในข้อความระบุว่า “ผมออกมาเอาปืนบ้านเพื่อนรอหน่อยนะว่าผมทำจริงหรือว่าปั่น ถ้าผมยิงหัวใครคนนั้นเป็นผู้โชคดีมาก บ้านผมอยู่จอหอนะครับต้องการจะคุยกับทางบ้านผมก็ไปนะครับก่อนผมจะมาผมก็ยิงไปแล้ว คุกไม่ได้มีไว้ขังหมา” ซึ่งหลังจากข้อความทั้งหมดถูกโพสต์ออกไปนั้น ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ก็ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปรักษาความปลอดภัยตามห้างที่ทางผู้โพสต์ระบุ
นอกจากนี้ ตำรวจได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว จนสาวไปถึงเจ้าของรูปในเฟซบุ๊ก โดยพบว่ายังเป็นเยาวชนอยู่ที่อำเภอพิมาย ตำรวจ สภ.พิมายจึงได้เข้าไปสอบถาม โดยเยาวชนดังกล่าวได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ ถูกนำรูปไปแอบอ้าง อย่างไรก็ตาม ตำรวจได้นำตัวเยาวชนคนดังกล่าวไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.พิมาย แล้วตรวจสอบโทรศัพท์พร้อมตรวจสอบหาสารเสพติด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เยาวชนดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นผู้โพสต์ แต่ถูกนำรูปไปแอบอ้างและตรวจสอบไม่พบสารเสพติดในร่างกาย
ด้านนายวันชัย พี่ชายของเยาวชน ยืนยันว่า น้องชายตนนั้นไม่ได้เป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว แต่ถูกนำรูปไปแอบอ้าง ซึ่งตนยืนยันว่าหากจับตัวคนโพสต์ตัวจริงได้จะดำเนินดคีให้ถึงที่สุด
ขณะเดียวกัน ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมากำลังเร่งตรวจสอบหาผู้โพสต์ตัวจริงเพื่อนำมาสอบสวนและดำเนินคดี
ทั้งนี้ สำหรับการโพสต์ข้อความขู่ดังกล่าวนั้น อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายมาตรา 384 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จ ให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
นอกจากนั้น พฤติกรรมดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 มาตรา 14(2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย