"สนธิญา" จี้ "นายกฯ-ครม." ยกเลิก MOU44 หวั่นเสียดินแดนซ้ำเขาพระวิหาร

วันที่ 14 พ.ย. เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายสนธิญา สวัสดี ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใน 2 ประเด็น คือ ขอให้มีการยกเลิก MOU 44 และชะลอการทูลเกล้าฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสนธิญา ระบุว่า ตนเกรงว่าการทำ MOU 44 ที่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล จะซ้ำรอยกับข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งการสูญเสียดินแดนครั้งดังกล่าวมาจาก MOU 43 โดยเกิดขึ้นในสมัยของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และมีนายทักษิณชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และ MOU 44 เกิดในปี 2544 สมัยเดียวกันกับรัฐบาลนายทักษิณ และจนถึงวันนี้เป็นเวลาดว่า 25 ปี ตนเกรงว่าถ้ายังยึดมั่นใน MOU ฉบับนี้ และมีการขีดเส้นบนเกาะกูด รวมถึงมีการกล่าวอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน ถึงมีสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ที่กล่าวอ้างว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยก็ตาม แต่เหตุผลที่ตนระบุถึง สามารถนำไปสู่กรณีเดียวกันกับปราสาทเขาพระวิหารได้ ในอนาคตหากประเทศกัมพูชาคิดแตกต่าง อาจนำไปสู่การฟ้องศาลโลก ปัญหาจะเกิดขึ้นที่เกาะกูดรวมถึงประเทศไทยจะเสียดินแดนไปหรือไม่ ตามสิทธิทางทะเลของประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังรัฐบาล และผู้รับผิดชอบรวมถึงนายกรัฐมนตรี จะสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่าพื้นที่ทับซ้อนส่วนนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องเกาะกูดเข้ามาเกี่ยวข้อง จากการเรียกร้องของประเทศกัมพูชาในอนาคต และหากในอนาคตมีการฟ้องร้องประเทศไทยเสียเกาะกูด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้

นอกจากนี้ยังทราบข่าวว่ามีการตกลงกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2544 ดังนั้นหากมีการตกลงร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา บริษัทที่ตกลงไว้จะเข้ามาทำการขุดเจาะน้ำมัน จะถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการทำงานที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ในประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นตนจึงขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี นำ MOU 44 เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทำการยกเลิก หากเรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญ ตนจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ในฐานะประชาชนคนไทย ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลปกครองวินิจฉัยและจัดการให้มีการยกเลิกบันทึกข้อตกลงนี้

นายสนธิยา ยังระบุถึง การชะลอแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่อาจจะแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ตนไม่ติดใจเรื่องคุณสมบัติ แต่ติดใจในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่มีการเมืองหรือฝ่ายอื่นฝ่ายใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ชี้แนะ ชี้นำและควบคุม โดยสมัยตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยมีทุนสำรองต่างประเทศอันดับที่ 12 ของประเทศ รวมถึงทองคำที่อยู่ในคลังหลวงมากเป็นอันดับ 9 ของโลก และที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายความว่าที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานไหนเข้าไปเซาะกร่อน บ่อนทำลาย หรือทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขาดเสรีภาพและการตัดสินใจ ซึ่งวันนี้ตนไม่อยากเห็นคนใดคนหนึ่งเข้าไปชี้นำ เพื่อออกมาปกป้องนโยบายทางการเมือง โดยนายกิตติรัตน์ ในสมัยของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งให้เป็น ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้วย

โดยการดำรงตำแหน่งนี้ มีการขอให้สำนักเลขานายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวก ในการปฏิบัติหน้าที่ มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ ป.ป.ช และ ปปง. ซึ่งการได้รับงบประมาณในส่วนนี้จะเหมารวมว่าเป็นข้าราชการทางการเมือง ดังนั้นหากวันนี้มีคนมาระบุว่านายกิตติรัตน์ไม่ได้เป็นข้าราชการทางการเมือง แต่ที่ผ่านมามีสถานที่ทำงาน ใช้จ่ายต่างๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร เงินที่ใช้ในส่วนนี้มาจากเงินงบประมาณ ทั้งนั้น มองว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าที่ปรึกษาของนายก เป็นข้าราชการการเมืองหรือไม่ ดังนั้นตนจึงร้องเรียนถึงนายกฯ ขอให้ชะลอการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หากเป็นชื่อนายกิตติรั เพื่อดำรงตำแหน่ง แต่หากยังดื้อดึงไม่มีการตรวจสอบ ตนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากมีการทูลเกล้าฯ และในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยังไม่ครบ 1 ปี เรื่องนี้ใครจะรับผิดชอบ

นอกจากนี้นายสนธิญา ขอไม่แสดงความคิดเห็นกรณีที่นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และนายทักษิณ ขึ้นปราศรัยช่วยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ในนามของพรรคเพื่อไทย โดยเรื่องของนายณัฐวุฒิได้ร้องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อวินิจฉัยว่าการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายก ตอนนี้ยังไม่ได้รับจดหมายตอบ หากได้รับเหตุผลจากการสอบถามไปก็อาจมีการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้กรณีที่นายทักษิณ มีการนัดหมายหัวหน้าพรรคร่วมไปกินมาม่าที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เท่ากับว่าหัวหน้าพรรคการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ได้เดินทางไปบ้านจันทร์ส่องหล้าตามที่นายทักษิณกล่าวอ้างจริง ตนฝากถึงพรรคการเมืองดังกล่าว ในวันนั้นการไปนั่งกินมาม่า ได้สังเกตว่ามีตัวแทนกรรมการบริหารพรรคของพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้พรรครวมได้ตกหลุมพรางนายทักษิณ โดยเขาไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ไม่มีเหตุจำเป็นที่หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคจะต้องเข้าไป ซึ่งคนทั่วไปสามารถมองว่าไม่มีความเหมาะสม โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังนายเศรษฐา หลุดตำแหน่ง เชื่อได้ว่าพรรคร่วมไปประกาศสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ดังนั้นนายทักษิณจึงถือว่าชี้นำ ครอบงำ ควบคุม พรรคการเมืองเหล่านั้นโดยสมบูรณ์แบบแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยจะรอดในส่วนนี้ไป

ส่วนที่มีการระบุว่า จะเชิญนายทักษิณร่วมสัมมนาพรรคเพื่อไทยช่วงเดือน ธ.ค.ในฐานะนักวิชาการ นั้น ตนไม่ขอออกความเห็น แต่หากนายทักษิณสงสารนางสาวแพทองธาร น่าจะหยุดการกระทำไว้บ้าง เพราะหลายเหตุผลจะถูกผูกมัดเป็นประเด็นเดียว และจะนำไปสู่การวินิจฉัยที่ทำให้รัฐบาลของแพทองธารมีปัญหาได้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าใน 22 พ.ย. นี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการรับวินิจฉัยคดียุบพรรคเพื่อไทย แต่จะมีประเด็นใดบ้างนั้นตนไม่ทราบเนื่องจากไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจศาลได้ ทั้งยังมีการร้องไปหลายประเด็น