สัตวแพทย์เผย ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่รักษาตัวมากว่า 1 ปี 4 เดือน สภาพโดยรวมดีขึ้น แต่ขาหน้าซ้ายยังเหยียดตึง อาจต้องลดความยาวงา เพราะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกาย

วันที่ 20 พ.ย. 2567 น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า หลังจากที่ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ได้เดินทางจากประเทศศรีลังกา มาถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 และต้องเข้ากักตัวที่ศูนย์วิจัยและควบคุมเฝ้าระวังโรคสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง (ส.คช.) โรงพยาบาลช้างฯ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และครบกำหนดกักตัว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 และย้ายเข้ามาตรวจรักษาอาการป่วย บาดเจ็บ ที่โรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง จนถึงปัจจุบันครบรอบ 1 ปี 4 เดือนแล้ว อาการป่วยของช้างยังมีอาการขาหน้าด้านซ้าย มีอาการเหยียดตึงอย่างเห็นได้ชัด

โดยที่ผ่านมา มีการรักษาทั้งฉายรังสีเอ็กซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงอัลตร้าซาวด์ การตรวจวัดการเดิน ทั้งใช้เครื่องมือและดูด้วยตาเปล่า พร้อมกับให้ช้างออกกำลังกายเบาด้วยการเดินทางตรง การว่ายน้ำ และการประคบร้อนด้วยลูกประคบ หรือการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องนวดด้วยคลื่นความถี่สูง เลเซอร์ อาการโดยรวมต่างดีขึ้น แต่ทั้งนี้กลับพบว่า งาช้างที่ยาว ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกายช้าง โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อส่วนหัวลำคอ ที่ช้างต้องเชิดหัวเดินตลอดเวลา เนื่องจากงาที่ยาว

ดังนั้น ขณะที่กำลังปรึกษาอาจารย์หมอ ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประชุมวางแผนการที่จะลดความยาวของงาช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกายอีกทางหนึ่ง

ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ อาจต้องลดความยาวของงา เพื่อรักษาอาการ