ศาลอาญาตัดสินประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" อดีตสามี-ทนายถูกจำคุกด้วย

วันที่ 20 พ.ย. 2567 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษา คดีวางยาฆ่าผู้อื่นที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และมารดาผู้เสียชีวิตร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้องพร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 30 ล้านบาท กับจำเลยที่ 1 คือ นางสรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ หรือ แอม อายุ 36 ปี ในความผิดฐานฆ่าอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ และการปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย, จำเลยที่ 2 พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 40 ปี อดีตสามี และอดีตรองผกก.สภ.สวนผึ้ง และจำเลยที่ 3 น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือทนายพัช อายุ 36 ปี ในความผิดฐาน ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน

โดยศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาตั้งแต่ เวลา 9.30 น. บอกว่า พฤติการแห่งคดี ว่า ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 63 ถึง 5 พ.ค.66 จำเลยที่ 1 มีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 95 ล้านบาท และมีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงอีก 10 บัญชี ที่ตรวจสอบพบว่าเป็นบัญชีม้าและเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ พร้อมกับมีหนี้สินจำนวนมาก

ส่วนในปี 64 ถึง 65 พบว่าจำเลยที่1 เสียเงินให้กับพนันออนไลน์จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมามีพยานที่เป็นผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงเพื่อวางยาในน้ำดื่มและในยาเม็ดแคปซูล ต่อมาพบว่ามีอาการเหมือนถูกพิษ

ส่วนการเสียชีวิตของนางสาวศิริพร หรือก้อย มีการกระทำหลายอย่างของจำเลยที่1 ที่เป็นพิรุธ ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาและความคาดหมายว่าจะให้เสียชีวิตในช่วงเวลาใด รวมถึงจำเลยที่ 1 คอยอยู่ใกล้ผู้ตายเพื่อขโมยของ ก่อนที่จะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากบริสุทธิ์จริงควรอยู่ช่วยชีวิตจนถึงที่สุด หรือโทรติดต่อญาติของผู้ตายให้ทราบ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้น ยังพบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งไซยาไนด์มาอย่างเร่งรีบ ทั้งที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวกับสารเคมี และพบว่ามียาไซยาไนด์ซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ของผู้ตายหลายจุด รวมถึงพบยาเม็ดแคปซูลที่ภายในประกอบด้วยสารไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในห้องโดยสารรถยนต์

จำเลยที่ 2 ที่มีประเด็นได้นำหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นกระเป๋าของกลางไปส่งให้กับจำเลยที่ 1 แทนที่จะนำไปให้พนักงานสอบสวน

ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นทนายความที่จำเลยที่ 1 ให้ความเชื่อถือได้ว่า ยุยงให้จำเลยที่ 1 ปกปิดกระเป๋าของกลางในคดี เพื่อเป็นแนวทางในการชนะคดี ประกอบกับส่งคำพิพากษาของศาลฎีกาของคดีอื่นที่ชนะคดีได้โดยไม่มีของกลาง ให้จำเลยที่ 1 และ 3 อ่านในกลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้น

จากพยานและหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนัก ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึง 3 กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนทางคดีแพ่ง โจทก์ร่วมขอให้ชดใช้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าควรชำระให้โจทก์ร่วม รวมเป็นเงิน 2,343,588 ล้านบาท

ศาลพิพากษา ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 2 และ 3 มีความผิดฐานช่วยไม่ให้ผู้กระทำผิดรับโทษ, ซ่อนเร้นหลักฐาน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่จำเลยที่ 2 ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ เหลือ 1 ปี 4 เดือน

ส่วนบรรยากาศภายในห้องพิพากษา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เบิกตัว แอม มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง เจ้าตัวมีสีหน้าเรียบเฉย สวมแว่นตา สวมหน้ากากอนามัยสีน้ำเงิน ร่างกายซูบผอมลง และตลอดการฟังคำพิพากษา แอม หันมาคุยกับ ทนายพัช ตลอด โดยไม่หันไปทางสามี (จำเลยที่ 2) เลย

ส่วนทนายพัช (จำเลยที่ 3) และ พันตำรวจโทวิฑูรย์ (จำเลยที่ 2) สีหน้าเรียบเฉย ตลอดการฟังคำพิพากษา และทันทีที่ ได้ยินคำพิพากษา จำเลยทั้ง 3 คน ไม่มีท่าทีสลดหรือแสดงอาการเสียใจ และมีบางจังหวะที่จำเลยทั้ง 3 หันมาคุยกันแล้วยิ้มออกมา

ส่วนมารดาและครอบครัวของนางสาวก้อย ผู้เสียชีวิต หลังฟังคำพิพากษาต่างก็ร้องไห้โฮ กอดกันด้วยความดีใจและโผเข้ากอดกัน

ขณะที่มีรายงานว่า จำเลยทั้ง 3 คน มีแอม ยืนตรงกลาง ทนายพัชยืนด้านซ้าย สามียืนด้านขวา ทั้ง 3 คนถูกศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำกุญแจมือมาสวม และให้จำเลยทั้ง 3 ยืนฟังคำพิพากษาตลอดเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง (ทนายพัช สวมชุดทนาย) ซึ่งโดยปกติหากมีการอ่านคำพิพากษานาน ศาลจะอนุญาตให้นั่งฟังได้และปกติหน้าบัลลังก์ไม่ต้องใส่กุญแจมือ

ขณะที่ภายหลังมีคำพิพากษา นางพิน แม่ของนางสาวก้อย เปิดใจพร้อมน้ำตา กล่าวขอบคุณที่ศาลที่ให้ความยุติธรรม และอยากจะบอกกับลูกสาวว่า “ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ขอให้นอนหลับให้สบาย ไม่มีอะไรที่ต้องห่วง”

นอกจากนี้ นางพิน ยังบอกอีกว่า ทันทีที่ได้เจอหน้าแอมในห้องพิจารณาคดี ด้วยความที่ตนยังรู้สึกโกรธแค้นไม่อยากจะมองหน้า แต่พอเหลือบไปเห็นสายตาแอมก็ยังดูปกติ ไม่มีท่าทีสลด ขนาดศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต แอมก็ยังดูเป็นปกติ

ด้านนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความเปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศาลพิพากษา แต่มีการพูดถึงพยานจากคดีอื่นด้วย ซึ่งสามารถนำคำพิพากษาในคดีนี้เป็นแนวทางในการพิพากษาคดีอื่นที่เกี่ยวกับแอมและมีการเสียชีวิตอีกด้วย

ส่วนคดีอื่นที่เกี่ยวกับแอม พนักงานอัยการจะนำสำนวนอีก 14 คดี มามอบให้กับศาลในวันอังคารที่จะถึงนี้