ผู้เสียหายครึ่งร้อย รวมกลุ่มยื่นหนังสือถึงนายกฯ เร่งตรวจสอบ แฟรนไชน์โชห่วยดัง ขู่ฟ้องผู้เสียหาย จี้คำถามถึงบริษัทเครื่อง POS ห่วยหรือไม่ ทำสต๊อกหายสูญนับแสนบาทต่อราย ถามย้ำอีกภาษีรายปีใครต้องจ่าย ทำไมตอนอบรมไม่มีบอก?

วันนี้ 3 ธ.ค.67 เวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พาตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีร้านโชห่วยชื่อดัง กว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้นำข้อมูลแจ้งนายกรัฐมนตรี ต่อไป เพื่อจะได้กำกับสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งตรวจสอบช่วยเหลือชาวบ้าน หลังจากบริษัทดังกล่าวขู่ฟ้องชาวบ้าน จนทำให้หลายคนกังวลใจเป็นอย่างมาก


โดยนายชาญชัย สายบุ ทนายความมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้พาผู้เสียหายเข้าร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อให้ตรวจสอบดูพฤติกรรมร้านโชห่วยชื่อดัง ว่ามีการนำข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ และตรวจสอบเรื่องพฤติกรรมว่าเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนหรือไม่

วันนี้ประชาชนที่เข้าร่วมแฟรนไชน์ร้านดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากถูกแจ้งความในข้อหายักยอกทรัพย์ที่เกิดจากเครื่อง POS ทำให้เรื่องระบบสต๊อกสินค้ามีปัญหา และถูกบริษัทตั้งคดีแพ่งในเรื่องผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย จึงมองว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้พี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียหายได้มอบข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากร ที่ผู้เสียหายต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร แต่ข้อมูลของบริษัทดังกล่าวมีการระบุว่า ได้ขายสินค้าขาดให้กับพาร์ทเนอร์หรือกลุ่มผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องภาษีอากรแต่เพียงผู้เดียว จึงมองว่าเป็นการยกภาระต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชนหรือไม่

พร้อมยังเปิดเผยว่า นอกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ และจเรตำรวจ ในการตรวจสอบเครื่อง POS ต่อไป


ด้าน น.ส.ภัทรานิชฐ์ แสงซื่อ ผู้เสียหายวัย 47 ปี ที่เดินทางมากจาก จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่าเรื่องนี้ทำกระทบทั้งครอบครัว เมื่อสอบถามว่าระบบร้านค้าเป็นอย่างไร เราสามารถตรวจสอบได้หรือไม่สำหรับสต๊อกสินค้าที่บริษัทนำมาลง น.ส.ภัทรานิชฐ์ บอกว่า สามารถเช็กได้ แต่สินค้าบางอย่างไม่ได้คุณภาพ หรือชำรุดเสียหาย ผู้ค้าหรือผู้เสียหาย ต้องเป็นคนจ่ายเองทั้งหมด ทั้งที่ตามสัญญาคือบริษัทรับผิดชอบเอง และยังถูกลูกค้ามาต่อว่าจนทำให้เสียหายอีกด้วย

ส่วนเรื่องภาษี ตนก็เคยไปแย้งกับสรรพากร และหลายหน่วยงานว่า ทำไมตนต้องเสียภาษีกลางปีและปลายปีด้วย เพราะขณะไปอบรมทางบริษัทชี้แจงแค่ว่าต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีป้ายเท่านั้น

สุดท้าย น.ส.ภัทรานิชฐ์ ได้ยกมือไหวและได้ฝากถึงบริษัทดังกล่าวว่า “ทำอะไรผิดอยากให้รับผิดชอบ เห็นใจกันบ้าง อยากให้รัฐบาลช่วยดำเนินการ และพบว่าขณะที่มาร้องเรียนมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทดังกล่าวพยายามโทรจี้ด้วย ในส่วนของตนยังไม่เป็นคดีความ และไม่ได้กังวลอะไรแต่อยากให้บริษัทรับผิดชอบ“

ด้านนายแม่ปุ๊กกี้ ตัวแทนมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ยังได้เปิดเผยต่อว่า หลังจากตนได้พาผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวเข้าพบนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็ได้รับการไว้ใจว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการพร้อมตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป รวมถึงเรื่องภาษีก็มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องหรือไม่

พร้อมกับมองว่าตอนนี้ถ้าผู้เสียหายสะดวกเดินทางมาได้ทั้งประเทศก็คงเดินทางมาแล้ว เพราะบางคนที่เดินทางมาวันนี้ต้องนั่งรถไฟฟรีบ้าง รถโดยสารบ้าง หรือบางคนต้องขับรถจักรยานยนต์ข้ามภูมิภาคมา เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง

สุดท้ายนายแม่ปุ๊กกี้ เผยว่า หลังจากที่ตนเห็นการชี้แจงจากทางบริษัท ตนก็มองว่าให้ทางบริษัทเมตตาต่อคู่ค้าหรือพาร์ทเนอร์ที่มั่นใจกับทางบริษัทตั้งแต่แรก ที่มั่นใจในระบบ ชื่อเสียง และตัวของผู้บริหาร เพราะชาวบ้านตาสีตาสา หวังพึ่งรายได้จากปันผลการขายสินค้า เพื่อประทังชีวิต เมื่อวันนี้มันเกิดปัญหาตามที่ไม่เหมือนที่คาดไว้ ก็อยากให้บริษัทได้ออกมาเคลียร์ และร่วมกันพูดคุยถึงปัญหา ไม่อยากให้ทางบริษัทข่มขู่ว่าหากใครออกมาจะฟ้อง ซึ่งมองว่าหากบริษัทเลือกจะตรวจสอบระบบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้า และให้ได้รับการแก้ไขต่อไป มองว่าแบบนี้จะน่ารักกว่าการไล่ฟ้อง เพราะตอนนี้ประชาชนไม่ได้กลัวการถูกฟ้องหมิ่นประมาท แต่ผู้เสียหายกลัวว่าจะไม่มีกิน จนทำให้ครอบครัวเดือดร้อน