อัจฉริยะ ร้อง บิ๊กต่าย สอบวินัย-อาญา ตำรวจ บก.จร. ทุจริตตั้งด่านกระทืบประชาชน ล่วงเกินรองอธิบดีอัยการ รับ "อดีต ผบ.ตร." และ "บิ๊กนครบาล" โทรเคลียร์ให้ยุติเรื่อง
วันนี้ที่ 11 ธันวาคม 2567 เวลา10.00น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำเอกสารยื่นถึง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร ทวงถามกรณีที่เคยยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองบังคับการตำรวจจราจรกลางที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเรียกรับสินบน ตั้งแต่ 13 พ.ค.2567 โดยมีตำรวจทั้งหมด 18 คน ตั้วแต่ยศผู้บังคับการ,รองผู้บังคับการ, ผู้กำกับการ, พ.ต.ท., ร.ต.อ. รวมไปถึงตำรวจผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่าเรื่องร้องเรียนเงียบหาย และจากการที่ตนเองตรวจสอบพบว่า กองกำกับการ1 บก.จร. กลับมีการตั้งด่านทำร้ายประชาชน และพบว่ากลุ่มตำรวจ มีตำรวจบางนายในกลุ่ม 1 ใน 7 คนที่ทำร้ายประชาชน และพบว่าบางคนยังอยู่ในกลุ่ม 18 คนที่ตนเองเคยร้องเรียนก่อนหน้านี้ด้วย
อีกทั้ง การปฏิบัติหน้าที่ของชุดตำรวจ 7 คนที่ทำร้ายประชาชน พบว่า พ.ต.ท. มีหน้าที่รับผิดชอบเขตพระราชฐาน และหน้าที่ล็อกล้อรถเท่านั้น แต่กลับมีคำสั่งควบคุมดูแลด่าน ส่วน ร.ต.อ. พบว่ามีรายชื่อที่ไปอบรมสารวัตร แต่กลับมีคำสั่งมาร่วมในการตั้งด่าน ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ เพราะ ร.ต.อ. ไม่ได้อยู่ในการควบคุม บก.จร.แล้ว ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการทุจริต เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงได้มาร้องเรียน ผบ.ตร. เพิ่มเติม เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัย และอาญา
สำหรับเหตุการณ์พฤติกรรมของ บก.จร. หลังจากที่นายอัจฉริยะไปร้องเรียน ได้มีอดีต ผบ.ตร. และผู้บังคับบัญชาในกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โทรศัพท์มาขอให้ยุตติเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตำรวจระดับสูงเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นรต.50 รวมทั้งคดี 7 ตำรวจทำร้ายประชาชน ยังมีตำรวจผู้ใหญ่ใน บช.น. โทรศัพท์มาพูดคุยเพื่อให้ยุติเรื่อง โดยนายอัจฉริยะยืนยันว่ายอมไม่ได้ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังพบว่า 1 ในตำรวจ บก.จร. ยศสิบตำรวจโท ที่เคยปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับตำรวจชุดที่เคยร้องเรียน และชุด 7 คนนี้ มีพฤติกรรมข่มขู่ ล่วงเกิน ต่อรองอธิบดีอัยการ เพื่อบังคับให้เป่าแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งด่านตรวจ ในย่านบางเขน ขณะนั้นรองอธิบดีท่านดังกล่าว เดินทางกลับจากที่ทำงาน โดย สิบตำรวจโทดังกล่าว ได้ถูกรองอธิบดีแนะนำถึงการใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น ก่อนที่จะปล่อยตัวไป ซึ่งทางรองอธิบดีไม่ติดใจเอาความ แต่ย้ำว่าเป็นเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ของกลุ่มตำรวจ บก.จร.1 ที่มีผู้บังคับการ, รองผู้บังคับการ และผู้กำกับการ เกี่ยวข้อง จึงเรียกร้องให้ย้ายออกนอกพื้นที่ ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง