อดีตผู้การกองปราบ คาดไม่เกิน 15 วัน รู้ผลสอบเขม่าดินปืนคดี สจ.โต้ง เชื่อกองปราบรับโอนคดี 100 % เหตุเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ มองปมการตายอาจเป็นการแย่งชิงอำนาจ
วันที่ 15 ธ.ค. 2567 พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีต สส.พรรคก้าวไกล และอดีตผู้บังคับการปราบปราม กล่าวถึงการตรวจสอบคราบเขม่าปืนในคดียิง สจ.โต้ง เสียชีวิตว่า ปัจจุบันมีเรื่องของความทันสมัยเข้ามาช่วย จึงคิดว่าไม่น่าจะเกิน 15 วันก็จะได้ผล ยิ่งเป็นการยิงจำนวนมาก ละอองสารเคมีก็จะติดไปตามพื้นที่ต่างๆ ตำรวจพิสูจน์หลักฐานก็จะตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการเก็บพยานหลักฐานภายใน 2 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ และได้ตัวของผู้ต้องสงสัยมาทันที โอกาสที่จะคลาดเคลื่อนยากมาก ถ้าไม่มีเขม่าปืนคือไม่มี แต่ถ้ามี มันจะบอกตัวของกลุ่มคนยิงได้เลย มือของผู้ยิงจะต้องเต็มไปด้วยเขม่าของปืน และถ้าเป็นผู้ที่ใช้อาวุธปืนยาวตามข่าว ต้องมีเขม่า 2 จุด คือ ทั้งมือซ้ายและมือขวา ส่วนคนอื่น ถ้ามีเขม่าดินปืนติดอยู่ตามร่างกาย แสดงว่าอยู่ในที่เกิดเหตุ ดังนั้น แทบจะไม่มีความผิดพลาดเลยกับการตรวจสอบเขม่าดินปืน
เมื่อถามว่า การมีอิทธิพลในพื้นที่มีผลต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ก็ต้องยอมรับว่าตำรวจในพื้นที่อาจจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือคนที่เป็นไม้ค้ำยันให้กับกลุ่มผู้มากบารมี แต่ส่วนที่จะทำลายพยานหลักฐานได้ต้องเป็นคนที่เข้ามามีบทบาทในชุดของพนักงานสอบสวน
เมื่อถามว่า มีการเรียกร้องให้โอนคดีไปให้กองปราบ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า มีโอกาสโอนคดีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเท่าที่ตนเคยอยู่กองปราบ คดีแบบนี้เข้าคุณสมบัติของการโอนคดี เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพราะมันเกินกว่าที่จังหวัดจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความยุติธรรมในคดี และยิ่งภรรยาของผู้เสียชีวิตได้ไปร้องแล้ว ตนคิดว่าตอนนี้น่าจะรอเพียงคำสั่งจากผู้บัญชาการสอบสวนกลาง โดยเขาก็จะต้องมีการแสวงหาพยานหลักฐานอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าไม่ได้อยู่ตรงจุดเกิดเหตุแต่อยู่ในห้องนอน ก็ต้องตรวจสอบด้วยว่ามีความสัมพันธ์กับที่เกิดเหตุอย่างไร ตั้งแต่เป็นแรงจูงใจ เป็นเจ้าของอาวุธปืน หรือมีคำสั่งให้ก่อเหตุ จะต้องหาพยานหลักฐานให้สอดเนื่องกับข้อกล่าวหาอย่างรัดกุม
เมื่อถามว่า มองคดีแบบนี้อย่างไร เป็นการตบหัวกันหรือสั่งฆ่า พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า มันมีทั้งอำนาจปืน อำนาจเงิน อำนาจบารมี ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้มันเกี่ยวพันอยู่กับผู้มากบารมี คือ ฝั่งผู้ถูกกล่าวหา และผู้มีอิทธิพล คือฝั่งผู้เสียชีวิต และมันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อคุณจะเติบโตมันก็ต้องถูกขัดขวางจากผู้ที่มีอำนาจเดิม มันจึงกลายเป็นการขัดกันระหว่างอำนาจ และยิ่งมีพรรคการเมืองใหญ่ดูแลทั้งสองฝั่ง มันจึงกลายเป็นการแย่งชิงอำนาจได้