บุกค้นฟาร์มปลายทางรับ "ลูกกอริลลา" จนท.สงสัยขบวนค้าสัตว์ข้ามชาติสวมใบอินวอยซ์
จากกรณีที่ศาลจังหวัดนครปฐม ได้อนุมัติหมายค้นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกับส่วนอนุญาตการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ (ไซเตส) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจค้นฟาร์ม ของบริษัทแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.นครปฐม โดยให้ค้นพร้อมสิ่งปลูกสร้างในบริเวณรั้ว เนื่องด้วยสนามบินอิสตันบูล ประเทศตุรกี สามารถตรวจยึดลูกกอริลลา ถูกซุกซ่อนในพัสดุลังไม้ ต้นทางมาจากประเทศไนจีเรีย ปลายทางประเทศไทย โดยในเอกสารใบ Invoice กลับมีรายละเอียดการทำธุรกรรมระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ปรากฏว่ามีการสำแดงเป็นกระต่ายจำนวน 50 ตัว แต่เมื่อเปิดออกพบว่าเป็นกอริลลา ทางศุลกากรอิสตันบูล จึงได้ประสานข้อมูลมาทางกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ บก.ปทส. ว่าได้มีการขออนุญาตนำเข้าหรือไม่
โดยทางกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ได้แจ้งกลับไปทางศุลกากรอิสตันบูลว่าไม่มีการขออนุญาตนำเข้า ทางศุลกากรอิสตันบลูจึงได้ทำการตรวจยึดไว้ เนื่องจากไม่มีใบรับรอง CITES ในระหว่างการตรวจสอบที่ดำเนินการในส่วนขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตำรวจ ปทส. ยังอยู่ระหว่างการตรวจค้นฟาร์มดังกล่าว
ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 ธ.ค. ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ร่วมกันแถลงรายละเอียดผลการตรวจค้น
โดยนายอรรถพลกล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าว ตนได้รับรายงานประสานมา กระทั่งได้รายงานต่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านก็ได้ให้ประสานการทำงานร่วมกับ พล.ต.ต.วัชรินทร์ จึงได้ร่วมกันนำหมายศาลจังหวัดนครปฐม เข้าตรวจค้นบริเวณบริษัทฯ ดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ นี้ ได้มีชื่อปรากฏในเอกสารจากประเทศต้นทาง “ไนจีเรีย” ส่งผ่านทางประเทศตุรกี มีปลายทางเป็นประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การตรวจค้นบริษัทปลายทางดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งบริษัทแห่งนี้ได้มีการนำเข้า-ส่งออกสัตว์เลี้ยง ขณะเดียวกันบริษัทประเทศต้นทาง ก็เป็นบริษัทที่นำเข้า-ส่งออกสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน จึงได้มีการประสานงานไปยังสำนักงานท้องถิ่น CITES (ไซเตส) ของแต่ละประเทศ ระหว่างนี้ก็ยังได้ประสานไปที่ตำรวจสากล เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายอรรถพล กล่าวถึงผลการตรวจค้นบริษัทที่ จ.นครปฐม ว่า เราได้รับฟังจากผู้ประกอบการพอสมควร แต่ก็มีบางเรื่องที่ยังมีข้อสงสัย จึงยังไม่ขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับการสืบสวน ขยายผล เพื่อดำเนินคดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องขยายผลไปถึงขบวนการนี้ให้ได้ เพราะเป็นสัตว์หายาก ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นเครือข่ายภาคีไซเตส จึงมีความจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับหลายประเทศเพื่อหยุดยั้งกระบวนการนี้
นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า เราจะมีการขยายผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ส่วนจะมีการขยายผลไปตรวจสอบร้านขายสัตว์เลี้ยงภายในตลาดนัดชื่อดังในกรุงเทพหรือไม่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องขอประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน
ด้าน พล.ต.ต.วัชรินทร์ เผยว่า ในส่วนของการสืบสวนต้องดูจากพยานหลักฐานว่าต้นทางมีการนำเข้าจากไหน ปลายทางไปที่ไหน ซึ่งตอนนี้เอกสารต่าง ๆ เราได้มาแล้ว แต่ปรากฏว่ามันมีการนำเข้าที่ถูกต้อง โดยมีการสำแดงเป็นกระต่าย 50 ตัว ซึ่งกระต่ายเหล่านี้ก็ได้มีการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.67 เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการเข้าตรวจค้นฟาร์มดังกล่าวกลับยังมีข้อพิรุธหลายอย่างที่เราต้องไปตรวจสอบขยายผล ว่าใครเป็นคนนำเข้ามา ใครเป็นคนว่าจ้าง เหตุใดจึงมีการปกปิดชื่อคนนำเข้ามา เจ้าหน้าที่กำลังหาพยานหลักฐานตรงนี้อยู่ เพราะกอริลลา มันเป็นสัตว์ป่าหายากในบัญชีไซเตส 1
ทั้งนี้ จะได้ประสานข้อมูลกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานอัยการ หรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการสืบสวนสอบสวนต่อไป
พล.ต.ต.วัชรินทร์ เผยด้วยว่า การเข้าตรวจค้นบริษัทฯ ใน จ.นครปฐม เบื้องต้นยังไม่พบความผิดใดๆ โดยเป็นบริษัทที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เราก็ดูว่า ใบอนุญาตของเขาประกอบด้วยสัตว์ป่าหรือสัตว์ควบคุมอะไรบ้าง และจำนวนที่อยู่ในความครอบครองในปัจจุบันตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรง มีส่วนไหนเกินหรือเป็นความผิดหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งนี้ หากมีการสำแดงเท็จจริง อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ เป็นต้น
พล.ต.ต.วัชรินทร์ เผยด้วยว่า สำหรับการตรวจค้นบริษัทที่ จ.นครปฐม วันนี้เรายังพบความเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับร้านซื้อขายสัตว์แห่งหนึ่ง ในตลาดนัดเดินเท้าชื่อดังในกรุงเทพฯ ซึ่งเราก็ต้องดูให้ครบด้วย แต่เราก็ต้องดูถึงเรื่องการสำแดงเท็จทางเอกสาร เพราะลูกกอริลลายังไม่ได้เข้ามาถึงประเทศไทย แต่ถูกสุ่มตรวจเจอที่สนามบินอิสตันบูลเสียก่อน แต่เราก็ต้องตามข้อเท็จจริงว่า ที่สำแดงปลายทางเป็นประเทศไทย ข้อเท็จจริงคืออะไร ซึ่งตอนนี้เราเห็นเพียงการนำเข้ากระต่าย 50 ตัว ที่ได้ถูกนำเข้ามาแล้ว แต่การนำเข้าลูกกอริลลา มันคล้ายถูกสวมเอกสาร (ใบ Invoice) หรือสำเนาเอกสารการนำเข้า โดยอาจใช้เลขเอกสารเดียว กับตอนนำเข้ากระต่าย 50 ตัว คาดว่าเป็นการทำสำเนา เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ
พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า เราพบข้อพิรุธในระหว่างการเข้าตรวจค้นบริษัทที่ จ.นครปฐม เพราะในการค้าขายสัตว์ มันต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออกให้ถูกต้อง และถ้ายิ่งเป็นสัตว์ในบัญชีไซเตส ก็ควรต้องมีพยานเอกสารสำคัญเกี่ยวข้อง แต่เพราะที่ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้รับกระต่าย 50 ตัว มันไม่ต้องมีการสำแดงการนำเข้า จึงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงมีลูกกอริลลา เตรียมนำเข้ามาปลายทางบริษัทดังกล่าวนี้
นอกจากนี้ การสอบสวนปากคำเจ้าของบริษัทของ จ.นครปฐม ยังคงยืนยันว่าตัวเองไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการส่งลูกกอริลลามาที่ฟาร์ม เขาได้มีการแสดงใบนำเข้าสินค้า (Invoice) ที่เป็นกระต่าย 50 ตัว และได้มีการนำเข้าเรียบร้อยแล้ว จึงให้ความยืนยันว่าเขานำเข้าแค่กระต่ายเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้เรื่องลูกกอริลลาเลย
พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวว่า ส่วนบริษัทต้นทางในประเทศไนจีเรีย ที่ค้ากระต่ายให้กับบริษัทของ จ.นครปฐม จะเป็นบริษัทเดียวกับที่ค้าลูกกอริลลาหรือไม่ ส่วนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ดังนั้น ปทส. จึงต้องตรวจเอกสารทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางมาจนถึงปลายทาง และต้องขอรับข้อมูลเชิงลึกจาก NGOs อีกด้วย และจากการตรวจสอบการค้าขายสัตว์ของบริษัทแห่งนี้ พบว่ามีการนำเข้า-ส่งออกตลอด ส่วนใหญ่เป็นทั้งสัตว์ควบคุมและไม่ควบคุม โดยเฉพาะการนำเข้านกเป็นหลัก พร้อมย้ำว่า เรายังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การเบื้องต้น แต่ต้องตรวจสอบเอกสารทั้งหมด เพราะเราพบข้อพิรุธจากพื้นที่บริษัทฯ ใน จ.นครปฐม จริงๆ