สถิติ 10 วันอันตราย วันที่ 7 อุบัติเหตุ 196 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 200 คน ผู้เสียชีวิต 43 ราย โดยพบว่า ยอดสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ "จ.สุราษฎร์ธานี" เกิดอุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย สูงสุด
วันที่ 3 มกราคม 2568 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน 10 วันอันตราย ประจำวันที่ 2 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ข้อมูลเผยว่า เกิดอุบัติเหตุ 196 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 200 คน ผู้เสียชีวิต 43 ราย โดยมีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,783 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,516 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.31 , ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.02 , ดื่มแล้วขับและทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.82
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.07
ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.67 , ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.9 , ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 26.53
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 08.01-19.00 น. ร้อยละ 8.16 , เวลา 11.01-12.00 น. เวลา 15.01-16.00 น. และ เวลา 17.01-18.00 น. ร้อยละ 7.14 , เวลา 09.01-10.00 น. และเวลา 10.01-11.00 น. ร้อยละ 6.12
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.7
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง จำนวน 11 ครั้ง
จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตรัง และ ลำปาง จังหวัดละ 11 คน
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี จำนวน 8 ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,938 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,894 คน ผู้เสียชีวิต รวม 321 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็น 0) มี 6 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (72 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (82 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (20 ราย)
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประสานทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2568 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เน้นการจัดตั้งจุดบริการประชาชน จุดพักรถ รองรับประชาชนที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่วมกับตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้า ตลอดจนสภาพรถและระบบความปลอดภัยก่อนออกเดินทาง พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่าง ป้าย และสัญญาณไฟแจ้งเตือนบริเวณจุดเสี่ยง ปรับเส้นทางจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อให้การจราจรมีความเป็นระเบียบ ประชาชนมีความปลอดภัยในการเดินทาง