คุมตัว "จ่าเอ็ม" มือยิง อดีตสส.ฝ่ายค้านกัมพูชา เค้นสอบหาตัวผู้ร่วมขบวนการ

วันที่ 11 ม.ค. เวลา 13.10 น. ที่กองบินตำรวจ (ท่าแร้ง) พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. ได้เดินทางมาถึงที่กองบินตำรวจ และเรียกฝ่ายสืบสวนสอบสวนทำการประชุมเตรียมความพร้อม ในการควบคุมตัวเคลื่อนย้ายนายเอกลักษณ์ หรือ เอ็ม กองเรือ หรือ จ่าเอ็ม อายุ 41 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร , ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดซึ่งใช่เหตุในเมือง หลังจากลงเฮลิคอปเตอร์

โดยการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเน้นย้ำกำชับไปยังที่หน่วยอรินทราช 26 ในฐานะเป็นกองกำลังที่จะรักษาความปลอดภัยตัวผู้ต้องหา และมีการซักซ้อมเตรียมแผนการเพื่อทำความเข้าใจ ในการที่จะส่งมอบตัวให้กับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ต่อไป

ต่อมาในเวลา 13.43 น. พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายเอ็มมาถึงที่กองบินตำรวจ โดยขณะที่ลงจากเฮลิคอปเตอร์ นายเอ็มได้สวมเสื้อยืดสีขาว และเสื้อเกราะกันกระสุน กางเกงสีน้ำตาล หมวกสีขาวพร้อมสวมแมสก์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการควบคุมตัวนายเอกลักษณ์ ขึ้นรถตู้ โดยมีรถคุ้มกันของหน่วยอรินทราช 26 ทั้งหน้าและหลัง

พล.ต.ท.สมประสงค์ เปิดเผยว่า จากการซักถามเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ได้ข้อมูลอะไรชัดเจน เบื้องต้นตนมีหน้าที่ไปรับตัวผู้ต้องหา เพื่อนำมาส่งต่อให้กับทางพล.ต.ท.สยาม ได้ดำเนินการนำตัวไปสอบสวนต่อ

สำหรับในประเด็นอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคนสั่งการหรือไม่ หลบหนีไปยังประเทศกัมพูชามีผู้ใดให้การช่วยเหลือหรือไม่ และเรื่องเส้นเงิน 60,000 บาทที่เข้ามายังบัญชีผู้ร้าย และสาเหตุแรงจูงใจในการก่อเหตุว่าจะเกี่ยวพันการเมืองหรือไม่ รวมไปถึงตัวผู้ชี้เป้าและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากว่าในวันนี้เพียงแค่ไปรับตัวมา ซึ่งหลังจากนำตัวส่งให้กับทางบช.น. แล้ว กระบวนการสอบสวนถึงจะเริ่มขึ้น

เบื้องต้นจากที่ตนสังเกตสีหน้าของผู้ต้องหานั้นก็ดูเครียด แต่นิ่ง ไม่ได้พูดอะไร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากการไปรับตัวผู้ต้องหามา มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรกับประเทศกัมพูชาหรือไม่ พล.ต.ท.สมประสงค์ ยืนยันว่าไม่มี

ด้านพล.ต.ท.สยาม กล่าวว่า สำหรับการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น จะต้องสอบปากคำตัวผู้ต้องหาและขยายผลเพิ่มเติมก่อนว่ามีผู้ใดบ้าง หากพบว่ามีผู้ใดที่เกี่ยวข้องก็จะมีการดำเนินคดีอย่างแน่นอน ทั้งตัวน้องสาวและตัวคนชี้เป้า

และสำหรับข้อมูลของคนชี้เป้านั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ได้ เบื้องต้นทราบว่าเป็นคนประเทศกัมพูชา หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน มั่นใจว่าสามารถนำตัวของผู้ชี้เป้ามาดำเนินคดีได้

ส่วนเรื่องผลตรวจอาวุธปืนนั้น จะต้องรอข้อมูลจากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจก่อน

เบื้องต้นจากการซักถามภรรยาผู้เสียชีวิตนั้น ตัวภรรยาไม่รู้จักกับตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด ผู้เสียชีวิตและภรรยาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาเที่ยวเท่านั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคิดว่าเป็นเหตุซึ่งหน้าหรือมีการวางแผน พล.ต.ท.สยาม กล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นการวางแผน เพราะมีการล็อกเป้าอย่างชัดเจน และเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เหตุซึ่งหน้า

ถามต่อว่าในแช็ตของผู้ต้องหาที่ระบุถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะมีการตรวจสอบหรือไม่ พล.ต.ท.สยาม กล่าวว่า ตรงนี้จะต้องรอสอบสวนก่อน แต่เบื้องต้นตำรวจยังไม่ได้มีข้อมูลในเรื่องนี้

ผู้การจ๋อ เปิดแผนส่งทีมไล่ล่า จ่าเอ็ม หนีซุกกัมพูชา 
11 ม.ค. 68 ต่อมาพล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เล่าถึงเบื้องหลังการดำเนินการติดตามจับกุมจ่าเอ็ม ว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ตนเป็นหัวหน้าชุดสืบสวน โดยการทำงานในครั้งนี้เราระดมนักสืบจากสืบนครบาล และสืบ บก.น.1 และ สน.ชนะสงคราม

พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนทราบว่าคนร้ายหนีออกไปทางภาคตะวันออก โดยใช้ขั้นตอน และวิธีการที่ตบตาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนอย่างแยบยล ซึ่งการปฏิบัติการนี้เราได้ร่วมบูรณาการ ถือว่าเป็นการหายใจรดต้นคอเพราะคลาดกันเพียงแค่นิดเดียว ก่อนที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีออกไปทางช่องทางธรรมชาติ พร้อมขอบคุณทางการกัมพูชาซึ่งถือเป็นความร่วมมือของนักสืบของทั้งสองประเทศ

แต่การปฏิบัติงานในครั้งนี้ที่รวดเร็ว ซึ่งปกติการปฏิบัติงานในประเทศกัมพูชาจะต้องมีระยะเวลาที่นานกว่านี้ แต่ในครั้งนี้ ผบ.ตร.ได้เป็นผู้ประสานงานกับทางการกัมพูชา จนทำให้เกิดความร่วมมือในการส่งตัวผู้ต้องหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์ของการส่งตัวไว เพราะในกระบวนการสอบสวน พยานหลักฐานต่างๆ ไม่หายไป จะทำให้สามารถขยายผลไปโค้นทั้งขบวนการ และเชื่อว่าจะสามารถสาวไปถึงตัวการ และต้นตอ

ส่วนที่ผู้ก่อเหตุมีลักษณะย่ามใจ จนถูกจับกุมระหว่างกินข้าวนั้น พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอนาธิปไตย เพราะหากปกติหากคนร้ายไปอยู่ฝั่งนั้นแล้ว การประสานจะยุ่งยาก และใช้ระยะเวลานานในการจับกุมตัว และตำรวจไทยไม่สามารถเข้าไปจับกุมนอกประเทศได้ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ตำรวจไทยที่เป็นผู้จับ แต่เป็นตำรวจกัมพูชาที่ดำเนินการจับกุม ก่อนส่งตัวให้กับเรา เราเพียงแค่ทำหน้าที่ประสานงาน

"ที่จริงแล้วผู้ต้องหาต้องถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมือง แต่ในขั้นตอนตามกฎหมายของกัมพูชา รัฐมนตรีมหาดไทยสามารถยกเว้น และผลักดันออกนอกประเทศได้" พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าว

อีกทั้ง ผู้ต้องหาเข้าประเทศเพื่อนบ้านได้เพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่ชุดสืบสวนของตำรวจกัมพูชาจะจับกุมตัวไว้ได้ หากปล่อยไว้นานกว่านี้ผู้ต้องหาจะเข้าไปได้ลึก และยากต่อการติดตามจับกุมตัว

พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวอีกว่า ตอนแรกหมายจับคนชี้เป้ายังไม่ออก ออกเพียงตัวผู้ก่อเหตุ แต่หลังจากดำเนินการจับกุมคนยิงแล้ว หมายจับคนชี้เป้าก็ออก แต่ติดตรงที่คนชี้เป้าไม่ใช่คนไทย แต่ผู้ลงมือเป็นคนไทย ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการต้องผ่านวิธีการทูต เบื้องต้นต้องทำให้หมายจับที่เพิ่งออกกลายเป็นหมายแดงให้ได้เพื่อใช้ตำรวจสากล

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ก่อเหตุพูดอะไรหรือไม่หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า ยังไม่ได้เปิดปาก ซึ่งในการสอบสวนตามระบบจะต้องเป็นระบบส่วนตัว และมีห้องส่วนตัว

ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุได้ร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ เพราะผู้ก่อเหตุร้องขอไว้ตั้งแต่แรก เนื่องจาก กังวลเรื่องความปลอดภัยจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ และทำร้าย วันนี้จึงได้มีมาตรการในการคุ้มครอง และรักษาความปลอดภัย ส่วนจะกลัวถูกรุมประชาทัณฑ์เพียงอย่างเดียวหรือกลัวถูกตัดตอนหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ธีรเดช ตอบเพียงว่า เขาพูดแบบนั้น อย่างที่เข้าใจคือเขายังไม่ได้ร้องขอ

พล.ต.ต.ธีรเดช อธิบายอีกว่า คดีที่เป็นมือปืนรับจ้าง ปกติจะใช้เวลาที่นานกว่านี้ถึง 5-7 วัน แต่วันนี้ยังไม่ถึง ชุดสืบสวนทำได้ถึงขนาดนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างหนึ่ง ซึ่งจะยกเคสนี้เป็นโมเดลหรือไม่นั้น ต้องดูที่ปัจจัย เพราะปัจจัยต่างๆ ในแต่ละเคสไม่เหมือนกัน จึงขอเป็นตัวแทนชุดสืบสวนในการขอบคุณทางการกัมพูชา โดยเฉพาะชุดที่ให้ความร่วมมือในการจับกุมให้กับเรา

คุมตัว "จ่าเอ็ม" มือยิง อดีตสส.ฝ่ายค้านกัมพูชา เค้นสอบหาตัวผู้ร่วมขบวนการ