อธิบดีดีเอสไอ ไฟเขียว ให้สืบสวนคดี แตงโม มีบุคคลอื่น-เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หลังมีผู้ร้องสงสัยอาจมีกลุ่มบุคคลร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม

จากกรณีที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค ชื่อ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์“ สรุปใจความได้ว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษ อนุมัติให้ทำการสืบสวนคดีน้องแตงโมแล้ว“ นั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 22 ม.ค. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันว่า ตนได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 22 ม.ค. โดยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เนื่องด้วยผู้ร้องขอให้สืบสวนสอบสวนและขอให้รับเป็นคดีพิเศษ “โดยผู้ร้องเห็นว่า” กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัย มีเหตุให้เชื่อได้ว่าอาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลง ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนดังกล่าว

พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า การอนุมัติเรื่องสืบสวนดังกล่าว ยังไม่ได้เป็นการรับไว้เพื่อเป็นคดีพิเศษแต่อย่างใด เพียงมอบหมายให้ทีมของ พ.ต.ต.ณฐพล ได้ไปแสวงหาพยานหลักฐาน ข้อมูล สืบสวนสอบสวน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงทุกประการ ตามที่มีผู้ร้องขอให้มีการดำเนินคดีต่อบุคคล และต้องเป็นการสืบสวนเพื่อหาผู้กระทำความผิดรายอื่นที่มิใช่บุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการสืบสวนดังกล่าว เจ้าพนักงานมีกรอบเวลาถึง 6 เดือน แต่อาจจะเร็วกว่านั้นก็เป็นได้ ถ้าหาหลักฐานได้มากเพียงพอ ทั้งนี้ หากพยานหลักฐานที่ได้มาจากการสืบสวนคดีพิเศษ สามารถบ่งชี้ว่ามีการกระทำความผิดในทางอาญา และเข้าลักษณะการเป็นคดีพิเศษ ก็จะต้องมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อขอมติในที่ประชุมในการรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษ แต่ต้องขอเน้นย้ำว่า หากพยานหลักฐานและการกระทำความผิดนั้นเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ ดีเอสไอจะต้องส่งสำนวนให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแทน