ชาวไทย-ลาวนับแสน ร่วมพิธีแห่พระอุปคุต เปิดงานบุญเดือนสาม นมัสการองค์พระธาตุพนม
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.30 น. ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดงานบุญเดือนสาม นมัสการองค์พระธาตุพนม ประจำปี 2568 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2568
ภาคเช้ามีการประกอบพิธีสำคัญ ตลอดริมฝั่งน้ำโขงในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม มีประชาชนนักท่องเที่ยว ต่างนำเครื่องสักการะบูชา รวมถึงดอกดาวเรือง มาร่วมพิธีแห่พระอุปคุต ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์สืบทอดมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าสืบทอดมาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เนื่องจากพระอุปคุตเป็นสาวกพระพุทธเจ้า และมีความศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ที่สามารถคุ้มครองภัยปกปักรักษางานประเพณีต่างๆ ได้ ผู้อัญเชิญพระอุปคุตงานนมัสการพระธาตุพนม คือ ว่าที่ร้อยตรี รวยรุ่ง โคตรบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายนพรัตน์ สุธรรมาโม เจ้าภาพพระอุปคุต นาวาเอกแมนรัตน์ บุญสวัสดิ์ ผบ.นรข.เขตนครพนม พ.อ.สุภัทร ชูตินันทน์ เสธนาธิการ มณฑลทหารบกที่ 210 และนายปรีชา มณีสร้อย นายอำเภอธาตุพนม
สำหรับพิธีแห่พระอุปคุต ซึ่งประกอบขึ้นในช่วงเช้า ก่อนการเปิดงานวันแรกของงานนมัสการองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ถือเป็นบุญใหญ่ของชาวอีสานที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2519
โดยเชื่อกันว่า ก่อนที่จะเริ่มงานนมัสการวันแรก จะต้องมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ตามประเพณีความเชื่อ คือ อัญเชิญองค์พระอุปคุตมาปกปักรักษาให้งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอด 9 วัน 9 คืน โดยถือเป็นงานประจำปีบุญใหญ่อีสานที่กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว มีเงินหมุนเวียนสะพัดเกือบ 100 ล้านบาท ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ถูกจับจองเต็ม
งานนมัสการองค์พระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 3 ถือเป็นงานบุญประเพณีใหญ่ของชาวอีสาน ที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2519 ยาวนานกว่า 49 ปี โดยจากประวัติความเป็นมาตามตำนานความเชื่อ พระอุรังคนิทาน ระบุไว้ว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางอากาศ เพื่อไปบิณฑบาต ที่เมืองศรีโคตรบูร สปป.ลาว ภายหลังได้มาประทับแรมที่ภูกำพร้า คือ จุดที่ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน จากนั้นพญาอินทร์ได้เสด็จมาทูลถาม ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ในภัทรกัปที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้าเช่นกันกับพระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสะปะผู้เป็นสาวกจะได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เช่นกัน
ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก ได้ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น เพี่ออัญเชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือในราวปี พ.ศ. 8 สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังเจริญรุ่งเรือง โดยการนำของพญาเจ้าเมืองทั้ง 5 และพระอรหันต์ 500 องค์ ซึ่งในยุคแรกได้ก่อสร้างจากดินดิบเป็นเตาสี่เหลี่ยม ข้างในเป็นโพรงมีประตูทั้ง 4 ด้าน จากนั้นได้มีการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 500 และบูรณะต่อเนื่องมารวมถึง 6 ครั้ง
และมีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2518 เวลา 19.38 น. เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยและชนชาติลาวคือ องค์พระธาตุพนมล้มทลายลงมาทั้งองค์ สาเหตุมาจากเกิดฝนตกหนัก และเกิดพายุพัดแรงติดต่อกันหลายวัน รวมถึงความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม ซึ่งเหตุการณ์ในขณะนั้นสร้างความโศกเศร้าต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงเป็นอย่างมาก แต่ด้วยพลังแรงศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุ ประชาชนร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จใน ปี 2522 ลักษณะพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง งดงามสง่าเหมือนองค์เดิม มีขนาดฐานกว้างด้านละ 12.33 ม. และสูง 53.60 ม.
วันที่ 22 มี.ค. 2522 ทางรัฐบาลได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธียกฉัตรยอดองค์พระธาตุพนม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระอุรังคธาตุ) ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ปีเดียวกัน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระธาตุพนมที่พังพลายลงตามกาลเวลา ก็กลับมาตั้งตระหง่านสูงเสียดฟ้า ณ ริมฝั่งโขง ให้ประชาชนได้สักการะอีกครั้ง และยังเป็นศูนย์รวมใจยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงอย่างไม่เสื่อมคลาย