ตัดสัญญาณโทรศัพท์-อินเตอร์เน็ตส่งข้ามไปปอยเปตผิดกฎหมาย สกัดแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกคนไทย

วันที่ 10 ก.พ. 2568 กสทช. ร่วมกับ ตรภูธรภาค 2 ตรวจสอบสายสัญญาณริมชายแดนไทยปอยเปต พบสายสัญญาณไม่มีเจ้าของ 3 เส้น ตัดทันที พร้อมปิดเสาสัญญาณโทรศัพท์ ตัดต้นตอแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกคนไทย โดยพลตำรวจโทยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมด้วยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ร่วมกับภาคเอกชนที่รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

โดยในจุดแรก คือ สถานีรถไฟ ด่านพรมแดนคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แนวรั้วติดกันกับชายแดนประเทศกัมพูชา ในจุดนี้จะมีสายสัญญาณ สายสื่อสาร ระโยงระยางจำนวนมากจากฝั่งไทยไปยังฝั่งกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกผู้ประกอบการภาคเอกชน เจ้าของสายสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต จำนวน 13 ราย มาแสดงตนเป็นเจ้าของสาย พร้อมทำสัญลักษณ์ตามสายของตนเอง ซึ่งสายโทรศัพท์หรือสายอินเตอร์เน็ตใดที่ไม่มีผู้แสดงความเป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่ กสทช. จะตัดสายดังกล่าวที่โยงไปประเทศกัมพูชาทันที เนื่องจากมีข้อพิรุธว่าเป็นการเชื่อมโยงสัญญาณที่ไม่ได้รับอนุญาตและอาจจะนำไปก่ออาชญากรรม

สำหรับผู้ประกอบการทั้ง 13 รายในจุดดังกล่าวมีการประกอบธุรกิจ 2 รูปแบบ คือ 1.บริการวงจรสื่อสารข้อมูลส่วนตัวความเร็วสูงระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit หรือ IPLC) ซึ่งเป็นธุรกิจบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ระหว่างบริษัทเดียวกันแต่คนละสาขา หรือบริษัทกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ในส่วนนี้สัญญาณที่ส่งไปจากไทยจะไม่มีการแปลงสัญญาณจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน 2.บริการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย (International Internet Gateway หรือ IIG) เป็นธุรกิจที่บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ รายใหญ่ที่ขายทั้งสัญญาณ ซึ่งเมื่อสัญญาณข้ามประเทศแล้ว IP address จะเปลี่ยนเป็นของประเทศนั้นๆ

เจ้าหน้าที่ กสทช. กล่าวว่า ปฏิบัติการเฉพาะวันนี้ ทาง กสทช. เรียกผู้ให้บริการสัญญาณภาคเอกชนมาทั้ง 13 ราย ทั้งหมดจะต้องทำสัญลักษณ์ในสายตัวเองให้ได้ ซึ่งหลังจากที่ระบุตัวเจ้าของสายสัญญาณได้เรียบร้อยแล้ว กสทช. จะตรวจสอบย้อนไปที่ปริมาณการใช้ หากพบว่าผิดวิสัยปกติคือมีการใช้ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นจำนวนมาก ก็จะเรียกสัญญาของเอกชนเจ้าของสายนั้นมาหารือว่า สายสัญญาณดังกล่าวอาจถูกใช้ในเครือข่ายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ขณะที่ หลังจากการตรวจสอบพบว่า จุดดังกล่าวมี 32 สายสัญญาณ แต่มีเจ้าของมาแสดงตนเพียง 29 สายสัญญาณ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะตัด 3 เส้นสายสัญญาณ ส่วน 29 สายสัญญาณเจ้าของจะต้องมาชี้แจงว่า สัญญาณที่ส่งไปทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้ตรวจสอบถึงวัตถุประสงค์ในการส่ง ว่าส่งไปประกอบธุรกิจหรือส่งไปเพื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งหากชี้แจงไม่ได้จะยกเลิกและถอนใบอนุญาตการส่งสัญญาณข้ามประเทศทันที

ขณะที่อีกจุด บริเวณหลังตลาดเบ็ญจวรรณ ที่ตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ความสูง 40 เมตร ของ 2 เจ้าบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ของประเทศ ที่ตั้งห่างจากเขตชายแดนกัมพูชา 200 เมตร ซึ่งจุดดังกล่าว เมื่อพฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่ กสทช.ได้เข้ามาปรับแผงส่งสัญญาณจากเดิมที่หันไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ปรับหันกลับมายังฝั่งประเทศไทย ซึ่งรัศมีสัญญาณจากแผงส่งไกลถึง 2 กิโลเมตร แต่หลังจากกลับแผงส่งสัญญาณพบว่า ยังมีสัญญาณรอดออกจากทางด้านหลังที่เป็นฝั่งประเทศเพื่อนบ้านรัศมี 1 กิโลเมตร และจากการข่าวพบว่า ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้นำเครื่องลักสัญญาณ ก่อนนำไปบูธกระจายยังฝั่งของประเทศตนเอง

โดยวันนี้จากการลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะประสานไปยังเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้นำกล่องเสาอากาศที่กระจายสัญญาณลงมา เบื้องต้นต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน แต่สิ่งที่ทำได้ในวันนี้เลย คือการปิดการกระจายสัญญาณลง เพื่อให้ฝั่งเพื่อนบ้านไม่สามารถใช้สัญญาณได้ ส่วนชาวบ้านฝั่งประเทศไทย ทาง กสทช.ตรวจสอบสัญญาณจากในเมืองส่งมาถึงระยะไหนในเขตอรัญประเทศ และจะนำเสากระจายสัญญาณระยะสั้นมาติดให้ตามชุมชนเพื่อลดปัญหาชั่วคราว ก่อนพิจารณาติดตั้งเสาสัญญาณใหม่ในจุดที่ห่างจากเขตชายแดน

จากการข่าวมีรายงานว่าจุด ส่งสัญญาณดังกล่าวเป็นจุดที่ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ใช้สัญญาณจากจุดนี้อีกด้วย