"DSI" ลุย 8 จุด เน้นจุดท่าทราย - วัดค้างคาว หาหลักฐานคดีแตงโม โดยใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจำลอง

วันที่ 17 ก.พ. 2568 เวลา 09.30 น. ที่ อู่เรือบ้านเรือเล็ก จ.นนทบุรี พ.ต.ต. ตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ นำคณะพนักงานสืบสวนจำนวน 25 คน ที่เชี่ยวชาญในด้านการสืบสวนสอบสวน ด้านนิติวิทยาศาตร์ ด้านแผนที่ภูมิศาสตร์และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ กรณีแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ตกเรือสปีดโบ๊ตเสียชีวิต

โดยคณะพนักงานสืบสวน จะนำเรือปฏิบัติการรวม 5 ลำ ลงสำรวจจากอู่เรือบ้านเรือเล็ก อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พร้อมนำอุปกรณ์โซนาร์จากกรมชลประทาน ไปสำรวจสภาพใต้น้ำ รวมถึงการใช้เครื่องสแกนเนอร์เพื่อตรวจสอบสภาพทางกายภาพบนฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจุดที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับรายงานการตรวจสภาพศพของแตงโม ว่าสอดคล้องกันหรือไม่

พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีแตงโม DSI กล่าวว่า วันนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะพนักงานสืบสอบสวน มาตรวจพื้นที่ตลอดลำน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ตามที่เรือลำเกิดเหตุวิ่งไปตลอดลำน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมด มีเครื่องมือพิเศษที่จะใช้ในการตรวจสอบ เพื่อนำผลที่ได้ประกอบกับการตรวจวิเคราะห์และรายงานการชันสูตรพลิกศพ และภาพคลิปวิดีโอต่างๆ ว่ามีความสอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไร

โดยวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และเรือที่จะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ และได้นำผู้เชี่ยวชาญด้าน ปฏิบัติการพิเศษทั้งการตรวจที่เกิดเหตุ และการตรวจภูมิศาสตร์พื้นที่ ร่วมกันหาข้อมูลเพื่อที่จะได้นำไปวิเคราะห์ ประกอบสำนวน

 

 

ด้าน นายไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการ ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า อุปกรณ์ที่เห็นในวันนี้ เราจะใช้เครื่องมือสร้างพื้นที่เกิดเหตุทั้งหมด โดยใช้ อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจำลอง ประกอบกับนำไปรวมกับภาพโดรนหรือถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายใต้น้ำ เพื่อทำบันทึกเส้นทางที่เรือวิ่งทั้งหมด ออกมาเป็นแผนที่ทางอากาศแบบ 3 มิติ และตัวโดรนจะได้ข้อมูลทางเหนือน้ำทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีตัวเลเซอร์สแกน ซึ่งจะมีค่าพิกัดโลกทั้งหมดอีกด้วย และมีเรือสำรวจใต้น้ำ ด้วยโซน่าของกรมชลประทาน ทำการเก็บภูมิประเทศใต้น้ำทั้งหมด จะเห็นความลึกตื้น เป็นหิน เป็นดินหรือเป็นทราย เครื่องมือจะสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด และจะนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้มารวมกันเพื่อนำมาเสนอให้กับพนักงานสอบสวนและประชาชนได้ทราบว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เรารวบรวมมา เราจะนำมาแสดงในรูปแบบของสามมิติ หรือ VR ก็จะทำให้ เห็นเส้นทางเรือ GPS เรือ ตำแหน่งของสัญญาณโทรศัพท์ ตำแหน่งกล้องวงจรปิดในการบันทึกภาพทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยในวันนี้เราจะลงพื้นที่แยกกันเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ ตั้งแต่พื้นที่เกิดเหตุทางด้าน บ้านตานิด ปทุมธานีไปจนถึงสะพาน พระราม 8 เมื่อเราได้แบบจำลองแล้วจะสามารถนำมาวิเคราะห์เหตุการณ์ได้ ทำให้มี ความน่าเชื่อถือมากขึ้น , กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มสแกนเก็บพื้นที่ ภูมิประเทศทั้งหมด และกลุ่มที่ 3 จะเป็นการใช้โดรนสแกนพื้นที่ทุกจุด

 

 

นอกจากนี้ ตำแหน่งที่พนักงานสอบสวนสนใจ เราก็จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปเก็บข้อมูล ไปถ่ายภาพ และ ตรวจสอบค่าพิกัดต่างๆ โดยเครื่องมือเหล่านี้ เหมือนเราจำลองสถานที่เกิดเหตุ เสมือนจริง แล้วนำเข้าไปใส่ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

เมื่อถามว่ามีความกังวลเรื่องระยะเวลาในวันเกิดเหตุและปัจจุบัน ว่า จะมีความแตกต่างกันหรือไม่นั้น นายไกรศรี กล่าวว่า เรากำลังจำลองเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เราสร้างพื้นที่เกิดเหตุขึ้นมาและพยานหลักฐานต่างๆที่พนักงานสืบสวนได้รวบรวมเอาไว้ จะนำมาไว้ในระบบ เพื่อวิเคราะห์ให้ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตบางส่วน พนักงานสืบสวนได้ข้อมูลมาแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางโทรศัพท์ และกล้องวงจรปิดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่นำมาใช้ในวันนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้ในคดีอาชญากรรม เพราะที่ผ่านมา เคยใช้แต่ในคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจกรณีการทำเหมืองแร่เถื่อน หรือบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เราก็จะสแกนข้อมูลต่างๆ ซึ่งมันสามารถวัดปริมาณแร่ได้อัตโนมัติ หรือวัดความลาดชันต่างๆได้