กรมโยธาฯ สั่งปิด ตึกทศมินทราธิราช รพ.ราชวิถี หลังเจอรอยกะเทาะแตก จนเห็นเหล็ก

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.68 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยตัวแทนจากสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แถลงความเคลื่อนไหวภายหลังจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่หลักของวิศวกรคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะอาคารที่สร้างเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่มีการพังทลายออกมา มีเพียงรอยแตกร้าว นี่คือสิ่งที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งวันนี้ก็ฝากให้สภาวิศวกรฯช่วยไปตรวจสอบ และให้สภาวะกลับคืนสู่ปกติ ส่วนอาคารใดที่เสียหายรุนแรงก็ต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและซ่อมแซม

นายชัชชาติ กล่าวว่า จะสั่งการให้ตรวจสอบอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ในส่วนอาคารของประชาชน วิศวกรรมสถานและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจะเข้ามาช่วย ส่วนอาคารราชการ โรงพยาบาล สถานศึกษา จะเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องลงไปดูในพื้นที่ พร้อมกับผู้ดูแลอาคารที่เป็นช่างประจำอาคาร เพื่อให้รู้ข้อมูลความเสียหายจะได้ตรวจตรงจุด และจะระบุว่าอาคารมีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งอาคารสาธารณที่มีความเร่งรัดต้องเปิดให้บริการ จะมีทีมวิศวกรพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นว่าต้องทำอย่างไร

ผู้ว่า ฯกทม. กล่าวว่า ข้อดีที่เราใช้ Traffy Fondue ทำให้เห็นพิกัด GPS และรูปเบื้องต้น ทำให้ไม่ต้องลงพื้นที่ในทุกเคส สามารถวิเคราะห์และสกรีนอาคารเบื้องต้นได้

ด้านนายพงษ์นรา กล่าวว่า จัดตั้งศูนย์เพื่อที่จะรับแจ้งในการตรวจสอบอาคาร มีสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาที่จะร่วมกันดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาตรวจสอบอาคารใน 3 หน่วยงานที่เป็นโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎ และโรงพยาบาลเลิศสิน

โดยขณะนี้มีอาคารของโรงพยาบาลราชวิถี ที่จะต้องระงับการใช้งานทั้งอาคาร โดยเฉพาะอาคารทศมินทราธิราช 20 ชั้น ที่มีการกะเทาะแตก จนเห็นเหล็ก ซึ่งประสานไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะประชุมในทีมของวิศวกร เพื่อวางแผนตรวจสอบอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ หรืออาคารที่รับแจ้งมา โดยวันนี้จะลงพื้นที่ ซึ่งประสานกับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะประสานงานและทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน

นายพงษ์นรา กล่าวอีกว่า ส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง จะรับผิดชอบในการตรวจสอบ อาคารในเขตกรุงเทพมหานคร อาคารสาธารณะ อาคารในพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ โดยจะมีแบบฟอร์มในการตรวจสอบสำรวจความเสียหายอาคารเบื้องต้น เพื่อเช็คลิสต์ว่าอาคารได้รับการเสียหายในระดับใด โดยแบ่งเป็น สีเขียว อาคารมีความปลอดภัย สีเหลือง พบความเสียหายบางส่วนแต่พอใช้งานได้ และสีแดง พบความเสียหายรุนแรงและอาจมีการห้ามใช้อาคาร

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ส่วนของบ้านเรือนประชาชนที่มีการแจ้งผ่าน Traffy Fondue ให้ตรวจสอบอาคาร ทราบว่า ทางกทม.จัดที่วิศวกรอาสาลงไปให้คำแนะนำเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน ส่วนอาคารขนาดใหญ่ และอาคารของเอกชน เช่น คอนโด ห้างสรรพสินค้า โรงแรมขนาดใหญ่

อาคารเหล่านี้ตรวจสอบตามกฎหมายทุกปีอยู่แล้ว จะมีผู้ตรวจสอบอาคารประจำที่เป็นวิศวกร ซึ่งทางกรมก็ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของอาคารเร่งแจ้งผู้ตรวจสอบอาคารเข้าดำเนินการตรวจสอบ หากไม่เพียงพอหรือไม่ พร้อมทางกรมฯมีบัญชีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน กว่า 2,600 ราย ก็สามารถจะดำเนินการในส่วนนี้ได้ ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดตั้งศูนย์เช่นเดียวกันกับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ด้านนายวิศณุ กล่าวว่า จาก 2,000 กว่าเคสที่แจ้งมาในวันนี้จะลงพื้นที่ไปตรวจความเสียหายกว่า 700 เคส ซึ่งในช่วงเช้าก็จะประสานงานกลับไปยังผู้ที่แจ้งมา เพื่อให้การเข้าตรวจเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ทั้งนี้ในที่ประชุมสอบถามถึงมาตรการสำหรับอาคารที่ได้รับผลกระทบรุนแรงว่า จะต้องทำอย่างไร เพราะขณะนี้ผู้ตรวจสอบทุกที่เต็มหมดเลย ไม่มีใครว่าง และในพื้นที่อโศกเต็มไปด้วยตึกสูง ในวันจันทร์ที่จะมีประชาชนกลับเข้ามาทำงานแต่อาคารยังไม่ได้รับการตรวจสอบ จึงต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถใช้อาคารได้ในวันจันทร์และอังคารที่จะถึงนี้ รวมถึงโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ เช่น ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ที่มีอาคารเกิดรอยร้าวเช่นกัน