"อัจฉริยะ" ยื่นดีเอสไอรับคดีพิเศษ คดีตึก สตง. ถล่ม ขณะที่ ดีเอสไอเชื่อว่าคดีมีมูลความผิด อยู่ระหว่างตรวจสอบรับเป็นคดีพิเศษเร็วๆ นี้
"อัจฉริยะ" ยื่นดีเอสไอรับคดีพิเศษ คดีตึก สตง. ถล่ม ชี้เป้ามียัดใต้โต๊ะ 100 ล้าน
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำเอกสารหลักฐานเข้าร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ และดำเนินคดีกับบริษัทกิจการร่วมค้าทั้งในประเทศ และบริษัทจีน รวมทั้งนอมินีทุนจีน กรณีมีส่วนก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานจนเกิดการถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
นายอัจฉริยะ กล่าวอ้างว่า เมื่อต้นปี 2567 บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน ติดต่อมาที่ตนเอง เพื่อจะว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาบริษัท โดยทางบริษัทฯ ได้พูดเกี่ยวกับโครงการอาคาร สตง. และโครงการรถความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย แต่เมื่อตนเองทราบว่าทางบริษัทได้จ่ายเงินใต้โต๊ะเป็นเงินสด 100 ล้านบาท ให้กับผู้คุมงานโครงการอาคาร สตง. และใช้บริษัทนอมินีมาเป็นคนทำสัญญาในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทไชน่าฯ ไม่มีคุณสมบัติในการรับงานหลวงของไทย แต่มีเงินทุนจีนจำนวนมาก จึงมาร่วมลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีความไม่ตรงไปตรงมา จึงไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาให้โครงการดังกล่าว
แต่วันนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น และน่าเชื่อว่าขั้นตอนแต่ละขั้นตอนไม่น่าจะถูกต้อง ไม่น่าจะตรงกับการก่อสร้างจริง ตนเองจึงได้ร้องทุกข์ดีเอสไอให้รับเป็นคดีพิเศษ และขอให้ดำเนินคดีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง , บริษัทผู้รับออกแบบ , บริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร , สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ว่าจ้างก่อสร้าง , บริษัทผู้จำหน่ายเหล็ก และบริษัทผู้จำหน่ายปูนคอนกรีตในการก่อสร้าง รวมไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท
ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 288 เจตนาเล็งเห็นผล รู้อยู่แล้วว่าก่อสร้างด้วยวัสดุที่ด้อยคุณภาพ หากอาคารพังลงมา เป็นเจตนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก , ความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค , ความผิดเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม , ความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จากการที่บริษัทไชน่าฯ มีบริษัทนอมินีทุนจีนอีกหลาย 10 บริษัท, และความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือการฮั้วประมูล โดยยืนยันว่าข้อหาเหล่านี้ เป็นคดีที่จะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้ และเหมาะสมด้วยประการทั้งหมด
ทั้งนี้นายอัจฉริยะ บอกด้วยว่า ตนเองเป็นวิศวกรโยธามานานกว่า 30 ปี จากที่เห็นลักษณะคอนกรีตหน้างาน มีลักษณะเปื่อยยุ่ย แตกง่าย มีการระเบิดของเสาคอนกรีต ที่คอนกรีตที่ยึดเกาะกับเหล็กบาง และคุณภาพเหล็กไม่ดี จนเกิดการระเบิดจากเสากลางลงมาเป็นชั้นๆ ดังนั้นหากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ก็ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบว่าค่ากำลังอัดของคอนกรีตได้ตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่ วิศวกรผู้คุมงานต้องรับผิดชอบด้วย และต้องไปดูตั้งแต่การออกแบบ ว่าผู้ออกแบบผิดพลาดหรือไม่ด้วย
ดีเอสไอ พิจารณาเตรียมรับเป็นคดีพิเศษ เหตุอาคาร สตง.แห่งใหม่ถล่ม
ด้านพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยเช่นเดียวกันกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้มีการสั่งการในการสอบสวนประเด็นอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มพังเสียหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว
โดยที่ประชุมให้พิจารณากฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (หรือการฮั้วประมูล) เน้นไปที่ผู้ที่ทำการก่อสร้าง 2.บริษัทเป็นกิจการร่วมค้า จึงทำให้ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ จึงมีประเด็นข้อกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และ 3.เรื่องเหล็กได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
เมื่อถามว่าจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้เลยมั้ย พันตำรวจตรี วรณัน บอกว่าจะเร่งให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้ยัฃอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ซึ่งการตรวจสอบจะดูว่าจะพฤติกรรมเข้าข่ายในข้อกฎหมายอะไรบ้าง เช่น กฎหมายฮั้วประมูล จะดูประเด็นการได้มาซึ่งสิทธิการทำสัญญากับรัฐว่าได้มาโดยถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่ กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่นเรื่องเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นไปตามมาตราฐานอุตสาหกรรมหรือไม่ และกฎหมายนอมินี เป็นกิจการร่วมค้ากับต่างชาติจะต้องดูว่ามีการถือหุ้นแทนกันหรือไม่
และหากมีการรับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอนแล้วหากเริ่มการสืบสวนจะต้องมีการเชิญสอบปากคำพยานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบอยู่แล้ว