ผอ.สปภ.กทม. เผยอีก 1 เมตรถึงผู้ติดค้างในโซนบี

เวลา 16.25 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการการสำนักงานเขตจตุจักร พันตำรวจโทวรภัทร สุขไทย รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (รองผกก.ป.สน.บางซื่อ) ร่วมกันแถลงความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ จตุจักร ถล่ม ขณะแผ่นดินไหว ใช้เวลาในการแถลงประมาณ 1 ชั่วโมง

นายสุริยชัย กล่าวว่า สถานการณ์ความคืบหน้าจากช่วงเช้ายังคงทำงานอยู่ในพื้นที่โซนบีและโซนซี โดยโซนบีอยู่ใต้พื้นไปประมาณ 3 เมตร ปัจจุบันใช้เครื่องจักรที่หนักขึ้น ดำเนินการไปได้ 2 เมตรกว่า จากเครื่องสแกน คาดว่าจะถึงตัวผู้ที่ติดค้างอยู่ด้านใน มีการตรวจสอบการตอบโต้การตอบรับของผู้ที่ติดค้างอยู่ และล่าสุดยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมาเหมือนเมื่อวานนี้

ส่วนในโซนซี ใกล้เคียงโซนดี ซึ่งเป็นบริเวณช่องลิฟต์และเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้างที่พังถล่มลงมา และคาดว่ามีผู้ติดค้างอยู่ภายใน และเป็นจุดที่สุนัข K9 มีปฏิกิริยาที่ต้องสงสัยว่าพบผู้ติดค้าง ตลอดทั้งวันได้ระดมกำลังค้นหา สุนัข K-9 และทีมกู้ภัยนานาชาติเข้าไปค้นหา ปัจจุบันได้เจาะและเคลื่อนย้าย ซากอาคารและขุดเจาะเข้าไปถึงผนังช่องลิฟต์แล้ว และกำลังจะดำเนินการเจาะผนังช่องลิฟต์ เข้าไปถึงโพรงด้านใน ที่ยังคงมีความหวังอยู่ว่าจะพบผู้ติดค้างอยู่บริเวณนี้ ส่วนปัญหาและอุปสรรค คือพื้นคอนกรีตที่กดทับลงมาหลายชั้น มีความหนา ยากที่จะขุดเจาะช่องให้คนเข้าไปได้ ซึ่งต้องกว้างพอสมควร

ด้านรศ.ทวิดา กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงยอดผู้ติดค้างภายใน เนื่องจากได้ประสานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบเพิ่มเติม แล้วพบว่ายอดผู้สูญหายจาก 96 คน เปลี่ยนแปลงเป็น 103 คน ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ มีอยู่จำนวน 8 คน ที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีพนักงานในเขตก่อสร้างมารายงานตัว 1 คน ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเดิมอยู่ที่ 15 คน

ส่วน 10 คนมีรายชื่อเป็นผู้รับบาดเจ็บจากการตรวจสอบแล้วเป็นประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าไม่มีประชาชนเสียชีวิต ซึ่งหากบวกลบแล้วขณะนี้ยังมีผู้สูญหายคงเหลือที่ 79 คน ไม่นับรวมยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 10 คน ที่เป็นประชาชนทั่วไป

จากการรายงานผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy fondue) มีประชาชนรายงานและส่งหลักฐานเข้ามา ให้ตรวจสภาพอาคารจำนวน 17,112 เคส สามารถเข้าอยู่อาศัยได้(สีเขียว) 13,570 เคส ยังอยู่อาศัยได้ แต่ต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง (สีเหลือง) 387 เคส อยู่อาศัยไม่ได้ (สีแดง) 2 เคส

ส่วนการเยียวยาและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
มีการขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb และได้เปิดศูนย์พักพิงและศูนย์พักคอยญาติ 3 แห่ง นอกจากนี้ยังมีรายการที่ ปภ.และกทม. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท, ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้านจ่ายเฉพาะอาคารที่กทม.ประกาศระงับการใช้และไม่ได้เข้าไปอยู่ในส่วนพักพิงที่กทม.จัดสรรเป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท, ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท, ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กรณีบาดเจ็บสาหัสช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท, เงินปลอบขวัญกรณีรับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท, เงินทุนประกอบอาชีพครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท ทั้งนี้เป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยที่ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยังทสกภ.กทม. เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายังปภ.ต่อไป

ส่วนขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการเกิดแผ่นดินไหว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับความช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์สำนักงานเขตหรือเว็บไซต์ของกทม. ผู้ร้องต้องยื่นเอกสารคำร้องและหลักฐานที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขตพร้อมให้ข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐานประกอบด้วยแบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทยใช้สำเนาพาสปอร์ต, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาโฉนดที่ดิน, สำเนาใบอช.2 (ฉโนดคอนโด), สำเนาบันทึกประจำวัน, หนังสือรับรองผู้ประสบภัยและบัญชีความเสียหายแนบท้ายฯ, บันทึก (ป.ค.14) ใช้ในกรณีที่เอกสารที่ยื่นยังไม่ชัดเจน, เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่พักอาศัยฯ และรูปภาพความเสียหาย

พันตำรวจโทวรภัทร กล่าวว่า ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ประชุมหารือสั่งการให้สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อให้อำนวยความสะดวกกับญาติผู้ประสบภัย ให้ไปเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอได้ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อพบบุคคลที่ค้นหาแล้วจะได้ทำการพิสูจน์ทราบว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้อย่างรวดเร็ว ยืนยันไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการร่วมอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณจุดเกิดเหตุ และศูนย์อำนวยการที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

สำหรับสถานการณ์จากศูนย์เอราวัณกรณีเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย แบ่งเป็น นอนโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้าน 24 ราย มีผู้เสียชีวิต 22 ราย โดยเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 19 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย