กทม.เผย สามารถลดระดับความสูงของซากอาคารสตง.ถล่มเหลือประมาณ 3.50 เมตร คาด3 วัน ถึงพื้นด้านล่าง

วันที่ 26 เม.ย. การปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย จากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างใหม่พังถล่ม เขตจตุจักร กทม. เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR จากหลายหน่วยงานยังระดมกำลังรื้อถอนซากอาคาร พร้อมกับค้นหาร่างผู้สูญหาย อย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องจักรหนัก และกำลังคน ยังคงสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงาน พร้อมทั้งฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น อย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาเข้าสู่วันที่ 30 โดยระหว่างเวลา 17.00น. ของวันที่ 25 เม.ย. จนถึงเวลา 12.00น. ของวันที่ 26เม.ย. เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาพบชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์เพิ่มอีกหลายชิ้น ในพื้นที่ช่องบันได โซน B และโซน C ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำร่างผู้เสียชีวิตและชิ้นส่วนอวัยวะที่พบทั้งหมดส่งให้สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจทำการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันตัวบุคคลอย่างเป็นทางการต่อไปโดยในจำนวนนี้ มีชิ้นเนื้อ 3ชิ้น ที่ผลตรวจพบว่าตรงกับชิ้นเนื้อ ที่เจ้าหน้าที่พบและได้เก็บนำส่งสถาบันนิติเวช เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2568 ตามลำดับบัญชีนำส่งร่างผู้เสียชีวิตและชิ้นส่วนอวัยวะ ลำดับที่ 170

นอกจากนี้เมื่อเวลา 06.50น. วันนี้ (วันที่ 26 เม.ย.) ทีมจัดชุดทีมค้นหาชิ้นส่วนอวัยวะ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR และสุนัข K-9 ที่ออกไปตรวจค้นกองดินที่จุดทิ้งเศษซากวัสดุก่อสร้างซากตึก สตง. บริเวณหลังศาลเยาวชนและครอบครังกลาง เพิ่มเติมได้ตรวจพบ ชิ้นส่วนกระดูก 1ชิ้น และได้ส่งให้สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจทำการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันตัวบุคคลอย่างเป็นทางการต่อไป

เวลา 10.20 น. ที่กองอำนวยการร่วม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม) แถลงความคืบหน้าในปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายและการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม

รศ.ทวิดา กล่าวว่า ภาพรวมสามารถลดระดับความสูงของซากอาคารลงมาได้อีกประมาณ 2 เมตร จากเมื่อวานนี้ ทำให้ความสูงของระดับซากอาคารอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร50 เซนติเมตร คาด ว่า 2-3 วัน จะถึงบริเวณพื้นชั้น1 ขณะนี้ทุกโซนมีความสูงเกือบใกล้เคียงกัน โดยบริเวณโซน C เป็นจุดที่ต่ำที่สุด เจ้าหน้าที่สามารถนำชิ้นส่วนปูนออกจากบริเวณดังกล่าวได้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงเหล็กเส้นที่ต้องอยู่ระหว่างการตัดและขนย้าย

"ขณะนี้มีอยู่ 1 โพรง ที่เป็นจุดทางทีมกู้ภัยนานาชาติเคยระบุไว้ คาดว่า จะมีร่างผู้สูญหายอยู่หลายร่าง ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่มีความพยายามในการที่จะเปิดโพรงให้กว้างขึ้น แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง ขณะเดียวกัน ได้มีการวางแผน ในการค้นหาผู้สูญหายบริเวณ ชั้นใต้ดินที่มีความลึก ประมาณ 4 เมตร ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของโครงสร้างและความปลอดภัย" รศ.ทวิดา กล่าว

รองผู้ว่า ฯ กทม.กล่าวอีกว่า ตอนนี้ เครื่องจักรหนัก ได้เข้าทำงานจากทุกโซน แต่พอถึงชั้นใต้ดิน เบื้องต้นวางแผน เจาะเปิดพื้นที่ โซน A B และD ในลักษณะตัว L บริเวณพื้นที่ด้านหน้า เพื่อที่จะเข้าไปสู่ผนังกันดินของชั้นใต้ดินอาคาร สตง. โดย วันนี้ มีการตั้งเป้าในการขนย้ายซากปูนและเหล็กออกอยู่ที่ประมาณ 330 เที่ยว จะเปิดพื้นที่โดยรอบให้ได้โดยเร็ว เพื่อเตรียมแผนสำหรับชั้นใต้ดินล่วงหน้า โดยเมื่อวานนี้ใช้น้ำมันในการขนย้ายประมาณ6600 ลิตร เนื่องจากเครื่องจักรหนักทำงานตลอดเวลา

เมื่อผู้สื่อช่าวถามถึง ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับภารกิจในครั้งนี้ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ทางกรุงเทพมหานคร ต้องทำ แต่อาจจะมีค่าทำงานล่วงเวลาให้สำหรับเจ้าหน้าที่ข้าราชการ กทม. ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้คิดคำนวณในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากภารกิจยังคงดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก การไฟฟ้าฯ และการประปานครหลวง ส่วนน้ำมัน มีผู้ให้การสนับสนุนเช่นเดียวกัน รวมถึงอาหาร น้ำดื่มต่างๆ แต่จะมีเรื่องที่ทางกรุงเทพมหานคร ยื่น ขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินทดลอง ราชการ เพื่อนำมาจ่ายในการซ่อมแซมวัสดุ อุปกรณ์เครื่องจักรที่ชำรุดเสียหายจากการใช้งาน

ส่วน งบฉุกเฉินของกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ มีการตั้งไว้ สำหรับทุกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ยืนยัน กทม.ยังสามารถ บริหารจัดการได้ การเข้าสู่ปฏิบัติการสาธารณภัยเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร อยู่ภายใต้การบริหารจัดการทั้งงบประมาณและกำลังคน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หาก ต่อมาพิสูจน์ได้ว่า การถล่มของอาคารสตง. เป็นการกระทำโดยประมาท กทม. จะดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายย้อนหลังหรือไม่ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า หากมีการดำเนินคดี แล้วหาผู้กระทำผิดได้จริง น่าจะเป็นหนึ่งส่วนของความเสียหายอื่นมากกว่า อย่างไรก็ตามทางกรุงเทพมหานคร ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องดังกล่าว

ส่วนกรณีที่มีคำเตือนจากทีมแพทย์เรื่องของอากาศร้อนและฝุ่น PM10 จากการรื้อซากอาคาร นั้น รศ.ทวิดา กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นในการทำงานตลอดเวลา ส่วนเรื่องอากาศร้อนเรามีการฉีดพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่นในการก่อสร้างตลอดเวลา ซึ่งการฉีดน้ำจะเป็นละอองฝอยน้ำจึงทำให้ลดอุณหภูมิความร้อนในพื้นที่ไปได้ด้วย จึงยังไม่มีรายงานเรื่องเจ้าหน้าที่เป็นโรคเกี่ยวกับอากาศร้อน เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่มีภาวะ heat Stroke ได้มีการประสานในสิ่งอำนวยความสะดวก ทำความเย็น ให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งเครื่องดื่มและของหวาน

นอกจากนี้ รศ.ทวิดา กล่าวถึง หลักเกณฑ์เงินให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในส่วนของรัฐ ว่า เนื่องจาก ปัจจุบันมีประชาชน มายื่นขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากเหตุแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมาก กรุงเทพมหานคร จึงได้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติม สิ้นสุด 2 พ.ค. 2568 ข้อมูลตอนนี้ รวมจากทุกสำนักงานเขตมีประชาชนเข้ามายื่นเรื่องวันละประมาณ 1000 คน รวมทั้งหมดที่มายื่นเรื่องตอนประมาณ 40000 คน โดยเขตที่ยังเหลือการดำเนินการ เช่น ในเขตจตุจักร ภาษีเจริญ ห้วยขวาง ธนบุรี ราชเทวี และวัฒนา เนื่องจาก เขตเหล่านี้ มีอาคารสูงจำนวนมากเป็นที่พักอาศัย ส่วนภาพรวม ของกรุงเทพมหานคร ตอนนี้อยู่ ประมาณ 40000 คน ยังเป็นหลักฐานสำคัญ เพื่อนำไปสู่กระบวนการพิจารณาจ่ายเงิน ซึ่งครั้งหน้า จะมีการหารือกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และกรมบัญชีกลาง สามารถที่จะปรับกระบวนการของการ ยื่นหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ได้หรือไม่ โดยที่ไม่ต้องมายืนยันตัวตน แต่การจะยืนยันตัวตนนั้น เพื่อป้องกันการขโมยสิทธิ์

รศ.ทวิดา กล่าวอีกว่า ส่วนการให้ความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ได้รับความเสียหายจริง ไม่เกินหลังละ 49500 บาท การที่จะปรับจำนวนดังกล่าวขึ้นนั้น กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มีการศึกษาไว้แล้ว อยู่ในขั้นตอนของการหารือว่าจะสามารถปรับระเบียบใหญ่ได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ ทุกหน่วยงานเข้าใจถึงความไม่พอใจ และความไม่เหมาะสมของอัตราที่เกิดขึ้น โดยขอเวลาในการทำงานสักระยะ และขอดูว่าจะสามารถเพิ่มอะไรได้บ้างอย่างไรก็ตาม การออกไปตรวจดูนั้น ทางวิศวกรของกรุงเทพมหานคร มี ความจำเป็นที่จะต้องเทียบ กับ ราคาของวัสดุระเบียบ