เนื่องจากมีข้อสงสัยจากประชาชนต่อกรณีที่มีการใช้คำว่า 'เสด็จสู่สวรรคาลัย' จำนวนมากทำให้ทางราชบัณฑิตยสภา ได้ชี้แจงเรื่องการใช้วลี 'เสด็จสู่สวรรคาลัย' ไว้ดังนี้

การใช้วลี 'เสด็จสู่สวรรคาลัย' ควรต้องมีคำว่า 'ส่งเสด็จ' ด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ให้ข้อมูลว่า คำว่า 'สวรรคาลัย' มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑตยสถาน พ.ศ.2554 คือ เป็นคำกิริยา หมายความว่า ตาย ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการส่งเสด็จไปสู่สวรรค์ ทำให้การใช้คำว่า สวรรคาลัย เป็นการสื่อความหมายไม่ถูกต้องนั้นเป็นความเข้าใจที่เกิดจากการแปลตรงตามรูปศัพท์

โดยแท้จริงแล้วคำว่า 'สวรรคาลัย' มาจากคำว่า 'สวรรค' (สะ-หวัน-คะ) และ 'อาลัย' ซึ่งคำว่า 'สวรรค , สวรรค์' เป็นคำนาม หมายถึง โลกของเทวดา , เมืองฟ้า

คำว่า 'อาลัย' เป็นคำนาม มีความหมายว่าที่อยู่ ที่พัก

ดังนั้น วลี 'สู่สวรรคาลัย” จึงหมายถึง สู่ที่อยู่ในสวรรค์ สู่ที่พักในสวรรค์ ความหมายรวมๆ ก็คือ สู่สวรรค์

วลี 'เสด็จไปสู่สวรรคาลัย' จึงสื่อความหมายได้ว่า (พระองค์) เสด็จสู่สวรรค์ หรือ (พระองค์) เสด็จสู่สรวงสวรรค์

อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้นเข้าใจว่า 'ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย' หมายถึงส่งเสด็จ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสู่สรวงสวรรค์ แต่คำถามมีอยู่ว่า ใช้ได้หรือไม่

ในเรื่องนี้ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต และที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ รองประธานคณะกรรมการ มีความเห็นพ้องกันว่า พระองค์ทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้ หากใช้คำว่า 'ส่งเสด็จ' นำหน้าวลี 'สู่สวรรคาลัย' อาจทำให้สื่อความหมายได้ว่าประชาชนเป็นผู้ส่งเสด็จพระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์ ดังนั้น หากลดหรือละการใช้คำว่า 'ส่ง' ออกไปเหลือ 'เสด็จสู่สวรรคาลัย' หรือใช้คำว่า 'พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย' ก็จะทำให้ถ้อยคำดูสวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำว่า 'ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย'

'ราชบัณฑิตยสภา' ตอบข้อสงสัยการใช้วลี 'เสด็จสู่สวรรคาลัย'