ชาวประมง ใน จ.ภูเก็ต พากันนำเรือออกทะเลไปตักกุ้งเคยหรือกุ้งกะปิ กันเป็นจำนวนมาก มีแบบนี้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น

ที่หาด กมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ชาวบ้านต่างมาเฝ้ารอซื้อกุ้งฝอยหรือภาษาชาวบ้านเรียกกุ้งเคยกันเป็นจำนวนมาก ซื้อจากเรือประมงพื้นบ้าน ที่เริ่มทยอยเข้าฝั่ง แต่ต้องซื้อจำนวน 50 กิโลกรัม ขึ้นไป ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เนื่องมีสินค้าจำนวนจำกัด กุ้งเคยไม่พอขาย นอกจากนี้ยังแม่ค้ารับซื้อจากชาวประมง มาขายต่อในราคากิโลละ 60 บาท และหากไม่ได้ซื้อจะต้องรอในปีต่อไปเลยทีเดียว

โดยราคาซื้อขายในช่วงปีนี้ สูงถึงกิโลกรัมละ 50 – 60 บาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา ถึง10-20 บาท จังหวัดที่มีกุ้งเคยมีที่สุดและแหล่งทำกะปีมีชื่อเสียงสามารถนำไปออกสู่ท้องตลาดได้คือ จ.ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และ จ.สตูล

จะมีในช่วงปลายฝนต้นหนาวระหว่าง ปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายนในทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ในอ่าวกมลา อ่าวบางเทา อ่าวไม้ขาว จะมีกุ้งฝอยขนาดเล็ก 1.5 ซม. มีลักษณะเนื้อนุ่มรสหวาน มีสีชมพูอ่อนๆ มีคุณค่าทางโภชนการสูง เพราะมีแคลเซี่ยมโปรตีนโอเมก้า

สำหรับกุ้งฝอยชนิดนี้ชาวบ้านทั่วไปเรียกกุ้งเคย ชาวบ้านนำไปทำกะปิ หรือทางภาคใต้เรียกว่า 'เคย' กุ้งเคย มีจำนวนมากจับกลุ่มก้อนหนาแน่นในทะเลหลายล้านตัว กุ้งเคยจะเข้ามาในบริเวณน้ำตื้นจะแค่ 2 สัปดาห์ จากนั้น บางส่วนจะตายเป็นอาหารของ ปู ปลา และบางส่วนกลับไปฟักฟื้นในท้องทะเลลึก เพื่อฟักไข่ในปีต่อไป

กุ้งเคยนอกจากใช้ทำกะปิแล้วยังนำไปหมักเป็นกุ้งเค็ม ตากเป็นกุ้งแห้ง ตลอดจนใช้กุ้งเคยสดไปปรุงเป็นอาหารหลายอย่าง ทั้ง แกง ผัด ทอด ต้มยำ หลากหลายชนิด

ปัจจุบันในสภาพน้ำทะเลในจังหวัดภูเก็ตหลายพื้นที่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีสถานที่พักโรงแรมต่างๆมากมาย ทำให้สภาพแวดล้อมของน้ำทะเลเปลี่ยนไปไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของกุ้งเคย จึงไม่พบเห็นกุ้งเคยแพร่หลายพื้นที่ใน จ.ภูเก็ต เท่าไรนัก

สำหรับการจับกุ้งเคยชาวบ้าน ใช้วิธีการจับด้วยเครื่องมือภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ใช้เรือหางยาว ติดอวนขนาดเล็ก ลาก หรือ ตักขึ้นมา หรือ ใช้อวนชายฝั่ง ลากจับขึ้นมา แต่ไม่สามารถใช้อวนขนาดใหญ่หรืออวนรุนได้ เนื่องจากผิดกฏหมาย และกุ้งมีจำนวนไม่มากที่จะใช้เครื่องขนาดใหญ่ เพราะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย

 

cr.วิเชียร/ภูเก็ต