ประชาชนในหลายจังหวัด ร่วมกันขนทรายเข้าวัดและก่อเจดีย์ทราย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์อย่างคึกคัก โดยที่ จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านร่วมกันจัดพิธี แห่ไม้ค้ำสะหลีหรือไม้ค้ำโพธิ์ และขนทรายเข้าวัด เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับ ชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดพิธีแห่ไม้ค้ำสะหลีอ หรือ ไม้ค้ำโพธิ์และขนทรายเข้าวัด เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีการจัดขบวนแห่ทั้งหมด 5 ขบวน ได้แก่ ขบวนของคณะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ และแขวงทั้ง 4 แขวง เพื่อจะนำไปค้ำยันต้นโพธิ์ที่วัดต่างๆ 5 วัด บนถนนท่าแพ
ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือเกิดจากความเชื่อของชาวพุทธว่า ต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะต้นโพธิ์
นอกจากจะปลูกไว้ในวัดแล้ว ยังเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าได้ประทับเมื่อตรัสรู้ และเมื่อต้นโพธิ์เจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยามลมพัดแรง จึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้ ซึ่งไม้ง่ามนั้นเรียกว่า 'ไม้ค้ำโพธิ์' หรือ 'ไม้ค้ำสะหลี' ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้วยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป
โดยการจัดงานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ มีมายาวนานกว่า 200 ปี
ส่วนที่ จังหวัดลำปาง ชาวบ้านท่าหลวง ตำบลเถินบุรี อำเภอเถิน ได้จัดกิจกรรมตานตุง 12 ราศี ขนทรายเข้าวัดและรดน้ำต้นไม้รอบบริเวณวัดท่าหลวง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันจัดทำขึ้นในวันเนา (14 เม.ย.) ตามโบราณประเพณีที่ยึดถือปฏิบัตกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เพื่อสร้างอานิสงค์เสริมดวงชะตาบารมี ให้แก่ตัวเองและครอบครัว ถวายเป็นพุทธบูชาและความเป็นสิริมงคล
โดยชาวบ้านทุกคนจะนำน้ำใส่ภาชนะมาจากบ้าน เพื่อนำมารดดอกไม้ต้นไม้ ภายในบริเวณวัด เพื่อให้มีความร่มเย็นร่มรื่น และยังเป็นการทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคล และยังเป็นวันที่ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบคาย พูดส่อเสียดในทางที่ไม่ดี และไม่พูดโกหกให้ร้ายผู้อื่น เพราะตามความเชื่อ หากพูดอะไรในวันเนา ก็จะได้สิ่งนั้นตอบแทน จึงไม่มีใครกล้าพูดคำต่างๆ เหล่านี้ในวันเนา
สำหรับ วันเนา จะตรงกันวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล
ที่จังหวัดกำแพงเพชร บริเวณหาดทรายริมแม่น้ำปิงหน้าวัดพระบรมธาตุนครชุมพระอารามหลวง ตำบลนครชุม นายสุรพล กรีถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายน้ำไหลประจำปี 2560 ร่วมกับชาวบ้าน พระสงฆ์ และ สามเณร
โดยตักทรายขึ้นก่อเป็นกองใหญ่ ให้น้ำสามารถไหลผ่านได้รอบกองทรายจากนั้นก็ค่อยๆ ก่อทรายจนเป็นพระเจดีย์ทรายประดับด้วยธงใหญ่ตรงกลางเจดีย์ทรายรอบๆ เจดีย์ทรายปักธงสามเหลี่ยมอย่างสวยงาม
พระราชวชิระเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนครชุมพระอารามหลวง กล่าวว่า ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายน้ำไหลเป็นประเพณีที่ชาวตำบลนครชุมสืบทอดกันมาเป็นเวลานานในเทศกาลสงกรานต์ โดยจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี
ซึ่งชาวพุทธมีความเชื่อว่าการก่อพระเจดีย์ทรายน้ำไหลเป็นการถวายองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า จะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ความร่มเย็นการอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ดั่งน้ำที่ไหลรอบพระเจดีย์ทราย ถือเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี นอกจากนั้นยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนต่างๆ ด้วย
ปิดท้ายกันที่ วัดจันทร์ ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายบุญส่ง กลิ่นสวาทหอม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนครหลวง นำประชาชนกว่า 500 คน ร่วมทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนและทรายกว่า 300 กอง ที่ก่อเป็นรูประฆัง ถวายแด่พระครูโสภณปริยัตยานุยุต เจ้าอาวาสวัดจันทร์ จากนั้นชาวบ้านร่วมกันสรงน้ำองค์หลวงพ่อขาวจำลอง พระประธานในอุโบสถ์ รวมทั้งสรงน้ำพระสงฆ์และสามเณร
พระครูโสภณปริยัตยานุยุต กล่าวว่า ประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายขนทรายเข้าวัดนับวันจะเริ่มหายไปจากสังคมวัฒนธรรมไทย จึงใช้ช่วงเทศกาลสงกรานต์เชิญชวนประชาชน เข้ามาทำบุญก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อทางวัดจะได้นำทรายไปใช้ในการบูรณะวัดต่อไป