รัฐบาลเตรียมแจกเงินคนจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี พร้อมเตรียมสวัสดิการเสริมผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี เผยสถิติคนจนมีประมาณกว่า 4 ล้านคน ประเมินยอดลงทะเบียนราว 15 ล้านคน เริ่มแจกสวัสดิการผ่านบัตรคนจนวันที่ 1 ต.ค.นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ว่า ขณะนี้มีคนลงทะเบียนแล้วกว่า 10 ล้านคน คาดว่า เมื่อลงทะเบียนเสร็จ จะมีถึง 15 ล้านคน โดยแยกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนยากจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี และ รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี โดยจะหามาตรการในการช่วยดูแลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี เบื้องต้นจะมีการแจกเงินให้ดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังสั่งการให้จัดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในการรับสวัสดิการ ที่แตกต่างกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะมีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน รวมถึงได้สั่งการให้แบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ไปหามาตรการเพิ่มรายได้ให้กับลูกค้าของตนเองให้มีรายได้มากที่สุด และให้มีการประชุมติดตามในทุกเดือน
ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะคนยากจน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีรายได้น้อยเกินไป ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องไปดูแล โดยการแจกเงินนั้น มีแนวคิด คือ การเติมวงเงินเข้าในบัตรสวัสดิการทุกเดือน เพื่อให้ไปใช้ดำรงชีพ ซึ่งผลสรุปต้องรอดูผลการลงทะเบียนและงบประมาณที่ต้องดำเนินการก่อน การแจกเงินให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ต้องเป็นคนที่ไม่สามารถดำรงชีพได้จริง โดยตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติมีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีอยู่ 4 ล้านคน ซึ่งการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ดำเนินการผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อย เริ่มแจกบัตรในวันที่ 1 ต.ค.นี้