โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุตัวแทนรัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารของสื่อมวลชน ระบุ หากเข้าไปแล้วจำกัดเสรีภาพสื่อก็อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน โฆษกวิปสปท. เผยกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน เตรียมใช้เวลา 7 วัน ปรับแก้รายงาน พ.ร.บ.คุมสื่อ ก่อนส่งให้ประธานสปท. และรายงานต่อนายกฯ ต่อไป
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกวิปสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) กล่าวถึงการพิจารณาทบทวนรายงานร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท.ว่า มติที่ประชุม สปท.ในวันที่ 1 พ.ค.เห็นชอบตามที่ กมธ.ด้านสื่อสารมวลชน เสนอ และมีอีก 1 มติให้กรรมาธิการทำความเห็นของสมาชิก สปท.ที่เห็นต่างไปปรับในรายงานตามข้อบังคับ โดยกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน จะใช้เวลาปรับแก้รายงานภายใน 7 วัน ก่อนจะนำเสนอถึง ร้อยเอกทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เพื่อส่งรายงานให้กับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ต่อไป
กรธ.ชี้ให้ตัวแทนรัฐสั่งสภาวิชาชีพอาจเข้าข่ายจำกัดเสรีภาพสื่อ
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องตีความอีกทีหนึ่งว่า การให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะทำให้จำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าทำให้จำกัดเสรีภาพจริงก็อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนอื่น ต้องรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีสัดส่วนของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพราะอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของสภาวิชาชีพก็ถูกตัดออกไปแล้ว จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำรงตำแหน่ง เพราะอาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่งหากโครงสร้างสภาวิชาชีพฯ จะต้องมีคนนอก ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนจากภาครัฐ
"อภิสิทธิ์"แนะรัฐตัดไฟแต่ต้นลมยุติร่างพ.ร.บ.คุมสื่อ
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลักการที่ถูกต้อง คือ ต้องให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ร่วมกับการใช้กลไกอื่นๆ ของสังคม เพราะสิ่งที่พึงระวังมากที่สุด คือ การนำอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับสื่อ เพราะรัฐ คือ ผู้ที่สื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมากที่สุด จึงไม่มีประเด็น หรือ เหตุผลอะไรที่จะต้องมีตัวแทนของรัฐอยู่ในสัดส่วนสภาวิชาชีพ และไม่ควรมาต่อรองระยะเวลาว่าจะอยู่ 5 หรือ 6 ปี ซึ่งหลักคิดของคนที่ร่างกฎหมายนี้ มันคือการควบคุมสื่ออย่างปฏิเสธไม่ได้ เท่าที่ตนดูจากท่าทีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้แสดงท่าทีเห็นด้วยกับสปท.และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของสื่อมวลชน แต่ส่วนตัวคิดว่า ไม่ควรไปรอให้มีร่างกฎหมายออกมาก่อน เพราะจะทำให้มีปัญหา และ ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้รัฐบาลตัดไฟแต่ต้นลม โดยรัฐบาลควรพูดให้ชัดเจนเลยว่า อย่าเสนอกฎหมายมา ถ้าเป็นแบบนี้จะดีที่สุด เพราะสุดท้ายรัฐบาลจะต้องเป็นคนเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)