นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งย้าย "พันตำรวจเอกสีหนาท ประยูรรัตน์"ที่ปรึกษา ปปง. ไปปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปปง.อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
วานนี้ (4พ.ค.) มีการเผยแพร่เอกสาร คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 120/2560 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งที่ 265/2559 ลงวันที่ 28 เม.ย. พ.ศ.2559 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข่าวการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกและเบียดบังเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการของ ปปง. เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประโยชน์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้ พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักงาน ปปง. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และในระหว่างการปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกฯ เพื่อปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานด้านการปฏิรูประบบราชการ ระบบการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยให้อยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 3 พ.ค. พ.ศ.2560
นอกจากคำสั่งโยกย้าย พันตำรวจเอกสีหนาท แล้ว นายกรัฐมนตรี ยังออกคำสั่งย้าย นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (พิเศษ) ระดับสูง ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษใน สำนักคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักนายกรัฐมนตรี อีกด้วย
สำหรับเอกสารดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากคนใกล้ชิดนายกฯว่า เป็นเอกสารจริง ซึ่งเป็นไปตามการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ปปง. ที่ดำเนินการสอบสวนมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการตรวจสอบการยักยอกเงินในคดีทุจริต สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ของเจ้าหน้าที่ปปง. เป็นผลมาจากก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของดีเอสไอ 2 คน ซึ่งเป็นสามีภรรยากันและมีความสนิทสนมกับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เพราะพบข้อสงสัยว่า ทั้งสองคนอาจมีการทุจริตและยักยอกทรัพย์สินจากการทุจริตในคดีดังกล่าว โดยพบว่า มีเงินเข้ามาพักในบัญชีของผู้ถูกกล่าวหาถึง 40 ล้านบาท
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ยังพบข้อสงสัยว่า ยังมีบุคคลภายในซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของดีเอสไอและ ป.ป.ง. อีกบางส่วนที่รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการฟอกเงินของ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการสอบสวนให้เกิดความกระจ่างชัด