"นายองอาจ คล้ามไพบูลย์" เตือนรัฐบาลอย่าใช้แนวคิด อำนาจนิยม ในการรับฟังความคิดเห็นกับสื่อ เชื่อจะหาทางออกร่วมกันได้ ขณะที่ "นายจาตุรนต์ ฉายแสง" ระบุ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ หวังปูทางให้แม่น้ำ 5 สาย เดินสะดวก หากได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หลังที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ให้ความเห็นชอบว่า ร่างกฎหมายสื่อฉบับนี้ ดูเหมือนว่า แม่น้ำ 5 สาย ต้องการเน้นให้รัฐบาลกำกับควบคุมสื่อ มากกว่าให้สื่อมวลชนดูแลกันเอง และที่ขาดไปมาก คือการส่งเสริมให้สังคม สามารถตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนได้

ต่อไป สื่อที่เห็นต่างจากรัฐ อาจไม่ได้รับการรับรอง ให้ทำหน้าที่สื่อ ขณะที่ประชาชนเอง หากต้องการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี ผ่านทางโซเชียลมีเดีย อาจถูกนับว่า เป็นสื่อ และถูกจัดการตามกฏหมายที่มีไว้ควบคุมสื่อ สุดท้ายทั้งสื่อมวลชนและประชาชน ก็จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไปด้วยกัน

นายจาตุรนต์ ยังตั้งข้อสังเกตที่แม่น้ำ 5 สาย วางระบบควบคุมสื่อมวลชน น่าจะเป็นการเตรียมพร้อมให้กับพรรคพวกเป็นรัฐบาล หลังมีการเลือกตั้งมากกว่า

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กังวลถึงการเชิญองค์กรสื่อที่เข้าชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ว่า การเปิดโอกาสให้มีการพบปะพูดคุยกัน ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนองค์กรสื่อ ถือเป็นเรื่องดี ที่จะหาจุดร่วมในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างแท้จริง

ส่วนการที่นายวิษณุ กังวลว่า หากเชิญมาพูดคุยกันทั้ง 30 องค์กร อาจทำให้คุยกันไม่รู้เรื่องนั้น ตนเองมองว่า ไม่ควรกังวล เพราะถ้ามีการพูดคุยอยู่บนพื้นฐานของเจตนาดี ที่จะร่วมมือกันหาทางออกจากปัญหาที่เกิดจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็น่าจะพูดคุยกันรู้เรื่อง

แต่หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ และแนวคิดติดอยู่กับ "อำนาจนิยม" ที่นิยมอำนาจเข้าควบคุม ครอบงำ แทรกแซง ก็คงคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงหวังว่า รัฐบาลจะไม่ใช้วิสัยทัศน์แนวคิดแบบอำนาจนิยม ในการระดมสมองกับสื่อ เพื่อให้การพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลกับสื่อ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์และแนวคิดที่เสรี โดยไม่มีอคติใดๆ มาเจือปน

ทั้งนี้ ตนเองเชื่อว่า รัฐบาลจะมองเห็นปัญหา และทางออกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสื่อ เพื่อไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับสื่อ กลายเป็นชนวนความขัดแย้งอีกหนึ่งเรื่องของสังคมไทย

"จาตุรนต์" ซัดกฎหมายคุมสื่อหวังปูทางรัฐเดินสะดวก