นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญด้านพลังงาน หวังพัฒนาอย่างมั่นคง พร้อมระบุ หากสร้างโรงไฟฟ้าไม่ทันก่อนหมดสัมปทานแก๊สปี 65 จะเกิดปัญหา จึงเร่งต้องหามาตรการรองรับ
บ่ายวานนี้ (15 พ.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญด้านพลังงาน ในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังหารือถึงการเตรียมมาตรการรองรับกรณีหมดสัมปทานในปี 2565 หากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนที่เคยกำหนดไว้ก็จำเป็นต้องเตรียมมาตรการรองรับ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องสร้างในส่วนที่มีปัญหาอยู่ แต่อาจจะต้องใช้วิธีการอื่น เช่น การใช้แก๊สแทน และต้องกำหนดพื้นที่ในการสร้างโรงแก๊สแทน รวมทั้งศึกษาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือ หาพื้นที่ในการเก็บมากขึ้น โดยในส่วนพื้นที่ภาคใต้มีการประเมิณว่า ต้องใช้ไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ แต่สามารถผลิตได้เองประมาณ 2,000 กว่าเมกะวัตต์ จึงต้องมีแผนนำไฟจากภาคกลางส่งไปอีก 500-700 เมกะวัตต์ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น แต่จะสร้างอย่างไรก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง
"นายกฯ"ยันมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ไม่กระทบหน่วยราชการ
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีกรณีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ชื่อ WannaCry ระบาดไปยังคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ว่า ขณะนี้หน่วยงานความมั่งคงมีมาตรการอยู่แล้ว โดยทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ได้แจ้งเรื่องแล้ว และฝ่ายความมั่งคงต้องรับไปเพื่อออกมาตรการต่างๆ เบื้องต้นได้กำชับให้มีความระมัดระวัง และปฏิบัติตามมาตรการที่มีการแจ้งมา แต่หลายคนไปให้การบิดเบือนว่า รัฐบาลเป็นคนแจ้งให้เกิดความตกใจ เพื่อจะไปจ้างบริษัทเข้ามาลงทุนในระบบ ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่บิดเบือน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานผลกระทบในประเทศแล้ว ส่วนของหน่วยงานราชการยังไม่ได้รับรายงานเข้ามา