"นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" ขอให้ สมาชิก สนช. พิจารณากฏหมายลูกทั้ง 2 ฉบับด้วยตนเอง โดยยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก
เช้าวานนี้ (21 พ.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวปิดสัมมนา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่โรงแรมนิวแทรเวิลลอดจ์ จังหวัดจันทบุรี ว่า เป้าหมายการจัดสัมมนาไม่ได้เพื่อยุติประเด็นที่ค้างคาแต่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเป็นข้อมูลการตัดสินใจของสมาชิก สนช.ในการโหวตร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพราะหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ สนช.อาจจะโดนครหาว่าขาดความเป็นอิสระ
เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสมาชิกทุกคนต้องตัดสินใจเองบนพื้นฐานข้อมูลที่ได้รับ ชั่งน้ำหนักบนพื้นฐานประโยชน์ของประเทศ
นายสุรชัย ยังกล่าวว่า แนวคิดของ กรธ.ที่ร่างกฎหมายลูกมาถูกต้องแล้วหรือยังอยู่ที่สมาชิก สนช.ต้องตรวจสอบ ส่วนกมธ.ที่พิจารณา มีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเท่านั้น ซึ่งการเขียนกฎหมายทั้งหมดต้องตอบโจทย์การปฏิรูปด้านการเมือง 4 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์ 2.จะทำอย่างไรที่ จะพัฒนาพรรคการเมือง 3.มีกฎหมายส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ 4.ทำอย่างไรจะได้กฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ใช่ผูกขาดโดยนักการเมือง
ดังนั้น จึงอยากฝาก กมธ.ทั้ง 2 คณะดูเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งหลักการของกฎหมายสองฉบับนี้จะต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ กระบวนการต้องถูกต้อง เพราะไม่อยากเห็นขั้นตอนต้องมาสะดุดลง
จากนั้น พลเอกศุภวุฒิ อุตมะ เลขานุการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กกต. กล่าวสรุปว่า ประเด็นในร่างพ.ร.บ.กกต.ที่ค้างการพิจารณาคือ การยกเลิก กกต.จังหวัด ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน หลังจากการสัมมนา สนช.มีข้อสังเกตว่ารูปแบบของผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่เคยมีใช้ในประเทศใดมาก่อน จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และจากที่ กรธ.มีข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งล้มเหลวเพราะ กกต.จังหวัดนั้น เป็นความจริงหรือไม่ และการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องทำงานเต็มเวลาหรือไม่
ขณะนี้มีความเห็น 3 แนวทาง คือ 1. เซตซีโร่ กกต. ทั้งคณะ ให้ทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นกติกาใหม่ทั้งหมด 2. ให้ กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง และ 3. ให้ กกต. ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามที่กฎหมายกำหนด
โดยคณะ กมธ.จะนำกลับไปหารือและข้อความเห็นจาก กรธ. กกต.และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาสรุปต่อไป
ด้านพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกพรรค การเมือง กล่าวว่า
การจ่ายทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมืองยังมีความเห็นที่หลากหลาย บางส่วนเห็นว่าไม่ควรมี เพราะจะเป็นการขวางกั้นไม่ให้ผู้ยากไร้จัดตั้งพรรคการเมือง แต่บางส่วนเห็นว่าควรมี เพราะพรรคการเมืองจะได้ไม่เป็นเครื่องมือของนายทุน
ขณะที่การจ่ายค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมืองมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ในร่างกฎหมายลูกฉบับนี้กำหนดให้ต้องจ่ายค่าสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปี แต่บางส่วนเห็นว่าควรให้จ่ายน้อยกว่า 100 บาทต่อปี หรือในปีแรกควรงดเว้นการเก็บค่าสมาชิก นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปฏิรูปพรรคการเมือง ที่เสนอให้สมาชิกพรรค การเมืองมีส่วนในการเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย
โดยหลังจากนี้ กมธ. จะนำความเห็นที่ได้จากการสัมมนาไปประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ทั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง และ กกต.จังหวัด ต่างมีข้อดีข้อเสียคนละด้าน ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ทั้งคู่สามารถทำงานเสริมกันได้ เช่น หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงทุจริตการเลือกตั้งเป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ กกต.กลางอาจส่งผู้ตรวจการเลือกตั้งลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประกอบในการจัดเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้ ยืนยัน กกต. พร้อมจัดการเลือกตั้งตามรูปแบบกฎหมายที่ สนช.กำหนด
สำหรับประเด็น เรื่องคุณสมบัติ กกต. ที่ สนช. ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น นายสมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะ กกต.ทำงานเต็มที่ หากท้ายที่สุด สนช.ให้ กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง จะส่งผลให้ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ต้องพ้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายประวิช เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงระยะ 10 ปี ซึ่ง เป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับตนเองได้เตรียมเอกสาร ประสบการณ์ทำงาน ภาคประชาสังคมในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและหากตนเอง คุณสมบัติไม่ผ่านก็ต้องพ้นหน้าที่เช่นกัน