กรมควบคุมโรค ยืนยันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ตามกระแสโซเชียล ย้ำมีเพียง 4 สายพันธุ์ที่เคยพบ เท่านั้น โดยช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการระบาดมากที่สุด
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่โซเซียลมีเดีย มีการเผยแพร่ข้อมูลโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ว่า โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งในแถบประเทศอาเซียน สามารถพบได้ 4 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์ มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว โดยหากป่วยเป็นครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าป่วยเป็นครั้งที่สองอาการจะรุนแรงขึ้น ในเชื้อที่ต่างจากชนิดที่เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบอาเซียน ซึ่งพบการระบาดในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 63,931 ราย เสียชีวิต 64 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนในปี 2560 นี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 11,062 ราย เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกจะพบการระบาดแบบปีเว้นปี หรือ ปีเว้นสองปี
นอกจากนี้ นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยหากประชาชนมีข้อสงสัย ก็สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422