สวทช. รับปากประมงพื้นบ้านและเครือข่าย ยกเลิกโครงการติดแท็กพะยูน ซึ่งดำเนินการโดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เพราะขาดการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งหวั่นผลกระทบต่อตัวพะยูน
ตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน และมูลนิธิอันดามัน พร้อมตัวแทนเครือข่ายจาก 5 อำเภอ ร่วมหารือกับคณะนักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้ประสานงานโครงการฯติดแท็กพะยูน ถึงกรณีที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง พร้อมทีมนักวิจัย ได้ทำการติดสัญญาณดาวเทียมติดตามตัว หรือติดแท็ก บริเวณส่วนหางของพะยูน ยาวประมาณ 3 เมตร จำนวน 3 ตัว ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากครั้งแรกถูกคัดค้านอย่างหนัก จากชมรมประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ถึงความไม่มั่นใจในวิธีการดังกล่าว เพราะเกรงว่า จะกระทบและเกิดอันตรายกับพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สงวนหายากในท้องทะเลไทย
โดยที่ประชุม ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาในการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูน รวมทั้งความยาว และทุ่นสัญญาณที่ใช้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตราย และเสี่ยงต่อการตายของพะยูน อีกทั้งข้อมูลหลังการติดตั้ง ที่บอกเฉพาะวิถีชีวิตของพะยูนเฉพาะตัวที่ติดสัญญาณเท่านั้น ไม่มีนัยยะที่สำคัญต่อความรู้เกี่ยวกับพะยูนตัวอื่นในทะเลตรัง เช่นเดียวกับการเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของพะยูนทั้ง 3 ตัว ก็เป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างพันธุกรรมพะยูน ที่มีมากกว่า 200 ตัว
นอกจากนี้ จากการที่ชาวบ้านชุมชนชายฝั่ง ได้ร่วมกันจัดทำเขตอนุรักษ์ มาตั้งแต่ปี 2550 ทำให้มีแหล่งหญ้าทะเลเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ไร่ เป็นกว่า 9,000 ไร่ และล่าสุดการบินสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบพะยูนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการจัดทำงานวิจัยติดแท็กพะยูนดังกล่าว ก็ขาดการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ ขณะที่ชาวบ้านชุมชนชายฝั่งไม่ได้มีส่วนร่วม จึงร้องขอให้ สวทช. ทำการปลดแท็กพะยูนทันที และให้ยุติโครงการดังกล่าว
ด้านตัวแทนจาก สวทช. กล่าวว่า หลังการพูดคุยร่วมกัน เห็นว่า โครงการติดแท็กพะยูน ควรจะต้องมีการชะลอไปก่อน เพื่อให้นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีที่สุด พร้อมคิดว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความล้มเหลว แต่นับเป็นบทเรียนที่ดีของการทำวิจัยเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนี้ ทาง สวทช. ได้สนับสนุนงบประมาณให้ปีละกว่า 1,000,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายใดๆ ซึ่งก็คงต้องยกเลิกไปก่อน ส่วนจะมีการปลดแท็กพะยูนเมื่อใดนั้น คงต้องรอผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
Cr.ถนอมศักดิ์ // ตรัง